มลภาวะทางไฟฟ้า ( Electrical Pollution )
มลภาวะทางไฟฟ้า (Electrical Pollution) คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบไฟฟ้า แล้วทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือโหลดไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ หรืออาจเกิดปัญหาให้โหลดเสียหายได้ โดยเราสามารถแบ่งมลภาวะทางไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในระบบสายส่งกำลังแบบ 220 โวลต์อาร์เอ็มเอส ความถี่ 50 เฮิรตซ์ ออกตามลักษณะได้ 10 ประเภท คือ
- ไฟเกิน (Over Voltage) เป็นสภาวะที่แรงดันไฟฟ้ามีค่าสูงเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลานาน โดยอาจจะมีสาเหตุต่างๆกัน เช่นเกิดจากตำแหน่งใช้งานที่ใกล้แหล่งจ่ายไฟฟ้า เกิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เกิดจากการปลดโหลดขนาดใหญ่ออกจากระบบ การสวิตชิ่งตัวเก็บประจุเข้าระบบ หรือการปรับ แทป(Tab) ของหม้อแปลงไม่เหมาะสม เป็นต้น
- ไฟตก (Under Voltage) เป็นสภาวะที่แรงดันไฟฟ้ามีค่าลดต่ำลงเป็นระยะเวลานาน โดยอาจจะเกิดได้จากหลายสภาวะ เช่นการใช้กำลังงานไฟฟ้าจากแหล่งกำลังงานสูง ตำแหน่งใช้งานอยู่ไกลจากแหล่งจ่ายไฟฟ้า เกิดจากการต่อโหลดขนาดใหญ่เข้าสู่ระบบ การสวิตชิ่งตัวเก็บประจุออกจากระบบ เป็นต้น
- ไฟดับ (Blackout หรือ Sustained Interruptions) เป็นสภาวะที่แหล่งจ่ายกำลังงานทางไฟฟ้าหยุดจ่ายกำลังงานทำให้ไม่มีแรงดันปรากฎในสายกำลัง โดยอาจจะมีสาเหตุเกิดมาจาก แหล่งจ่ายกำลังงานได้รับความเสียหาย หรือมีการลัดวงจรในสายกำลัง ทำให้อุปกรณ์ป้องกันมีการตัดวงจรแหล่งจ่ายไฟออกถาวร
- ไฟกระชาก (Surge หรือ Spike) และ การออสซิลเลต (Oscillate) สภาวะไฟกระชากเป็นสภาวะที่แรงดันสูงขึ้นทันที ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากปรากฎการณ์ธรรมชาติ เช่นฟ้าผ่า และมักเป็นสาเหตุให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายทันที
- ไฟตกชั่วขณะ (Voltage Sag) เป็นปรากฎการณ์ที่แรงดันไฟฟ้าขาดหายไปในช่วงเวลาสั่นๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการใช้งานมอเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการกระแสสูงกว่าปกติประมาณ 10 เท่าในขณะเริ่มทำงาน ทำให้มีผลกับอุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการความต่อเนื่องของแรงดัน เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยอาจจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์หยุดทำงาน (Hang) หรือเกิดการรีเซ็ต(Reset) ได้
- ไฟเกินชั่วขณะ (Voltage Swell) เป็นปรากฎการณ์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการใช้งานของชุดตัวเก็บประจุ (Capacitor Bank) ทำให้มีผลกับอุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการความต่อเนื่องของแรงดัน เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยอาจจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์หยุดทำงาน (Hang) หรือเกิดการรีเซ็ต (Reset) ได้เช่นกัน
- ไฟดับชั่วขณะ หรือไฟกระพริบ (Short Interruption) เป็นปรากฎการณ์ที่แรงดันไฟฟ้าขาดหายไปในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการลัดวงจรภายในระบบ ทำให้อุปกรณ์ป้องกันทำการตัดวงจรชั่วคราว ทำให้อุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าหยุดทำงานได้
- ความผิดเพี้ยนของรูปคลื่น (Waveform Distortion) เป็นปรากฎการณ์ที่ลักษณะของรูปคลื่นมีการเบี่ยงเบนไปจากไซน์ ซึ่งอาจจะเกิดจาก องค์ประกอบไฟตรง (DC Offset) ฮาร์มอนิก (Harmonic) คลื่นแบบน็อตช์ (Notch) สัญญาณรบกวน (Noise) และอินเตอร์ฮาร์มอนิก (Interharmonic) มักจะเกิดจากสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMI) หรือสัญญาณวิทยุความถี่สูง (RFI) จากเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือปรากฎการณ์ธรรมชาติ เช่นโหลดไม่เป็นเชิงเส้น เครื่องเชื่อมไฟฟ้า สวิตช์ เครื่องส่งสัญญาณวิทยุกำลังสูง หรือฟ้าผ่าเป็นต้น ซึ่งสัญญาณรบกวนจะถูกเหนี่ยวนำกับสายส่งกำลังทำให้สัญญาณแรงดันมีรูปคลื่นไม่เรียบสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการประมาลผล หรือการสื่อสารข้อมูลได้
- แรงดันกระเพื่อม (Voltage Fluctuation) เป็นปรากฎการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของค่าแรงดันอย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะเกิดได้จากการเชื่อมไฟฟ้าซึ่งค่าของแรงดันมีขนาดอยู่ระหว่าง 209-231VRMS และผลกระทบต่อการทำงานของโหลดจะเกิดขึ้นได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของแรงดันกระเพื่อมเอง
- การเปลี่ยนความถี่ (Frequency Variation) เป็นปรากฎการณ์ที่ความถี่ของระบบไฟฟ้ามีค่าเปลี่ยนแปลงจาก 50 เฮิรตซ์ ซึ่งมักจะมีผลมาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งจะมีผลกระทบต่อการทำงานของโหลดประเภทเชิงกลอย่างมาก เนื่องจากมีการทำงานสัมพันธ์กับความถี่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Tel : 02-186-3010
Line : @chuphotic (with @)
Email : ups@chuphotic.com
Website : www.chuphotic.com
กลับ