ทำไมฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ไฟถึงดับ มีวิธีรับมืออย่างไร
ระบบไฟฟ้าถือว่าเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีบทบาทสำคัญในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบันนี้เป็นอย่างมาก การเกิดเหตุไฟฟ้าดับในแต่ละครั้งจึงส่งผลกระทบทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
การเกิดไฟฟ้าดับมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ จากระบบไฟฟ้า หรือจากภัยธรรมชาติ แต่ที่เรามักได้ยินกันบ่อยครั้งคือ ไฟฟ้าจะดับเวลาฝนตก ลมแรง มีฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แท้จริงแล้วการที่ไฟฟ้าดับมีความสัมพันธ์กับฝนตกอย่างไร ทำไมไฟดับตอนฝนตก หรือ ฟ้าผ่าไฟดับ เกิดจากอะไร เราจะมาไขข้อข้องใจในบทความนี้กัน
ไฟดับคืออะไร?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า ไฟดับ คืออะไร สำหรับในประเทศไทยนั้น ไฟดับคือเหตุการณ์ที่ขนาดของแรงดันไฟฟ้าในระบบไฟฟ้า มีค่าเข้าใกล้หรือเท่ากับศูนย์ และการเกิดเหตุการณ์มีระยะเวลานานตั้งแต่ 1 นาทีขึ้นไป ส่วนในประเทศอื่นอาจมีการกำหนดระยะเวลาที่นานกว่านี้ เช่น 3 นาที หรือ 5 นาที เป็นต้น การเกิดไฟฟ้าดับอาจส่งผลกระทบในพื้นที่แค่ไม่กี่หลังคาเรือน หรือส่งผลเป็นวงกว้างกว่านั้น อาจกินเวลาเพียงไม่กี่นาทีหรือยาวนานหลายชั่วโมงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบไฟฟ้า
เหตุผลที่ไฟดับบ่อยตอนฝนตก
โดยหลักการแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดไฟฟ้าดับมีอยู่ 2 สาเหตุหลักคือ การเปิดวงจรของอุปกรณ์ป้องกันและตัดตอนโดยเจ้าหน้าที่เพื่อบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมระบบไฟฟ้า และ เพื่อตัดส่วนที่เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรจากสาเหตุต่างๆ ออกจากระบบ ซึ่งพบว่าความแปรปรวนของสภาพอากาศ เช่น ฝนตก ฟ้าผ่า ถือเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ที่ส่งผลทำให้ระบบไฟฟ้าเกิดขัดข้องจนเป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการเกิดฝนตกนั้น มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ดังนี้
มีความชื้นในอากาศสูงตอนฝนตก
ทำไมฝนตกไฟดับนั้น อธิบายได้ว่า ในขณะที่เกิดฝนตก ค่าความชื้นในอากาศจะสูงขึ้น ภายใต้ภาวะที่มีความชื้นสูงเกินกว่าปกตินี้ จะส่งผลทำให้ระบบไฟฟ้าทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่ออุปกรณ์ในระบบไฟฟ้านั้นมีอายุการใช้งานนาน ความชื้นในอากาศที่สูงนี้ยังมีผลทำให้เกิดความเสื่อมสภาพและความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ได้ เมื่ออุปกรณ์และระบบไฟฟ้าไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ อาจส่งผลทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรและไฟดับในที่สุด
ฟ้าผ่าในระบบไฟฟ้า
ในกรณีที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง มักมีฟ้าผ่าเกิดร่วมด้วย ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติลำดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดไฟฟ้าดับ แล้วทำไมฟ้าผ่าไฟดับ นั้นมีเหตุผล คือ
เมื่อเกิดฟ้าผ่า มักจะผ่าลงบนวัสดุที่มีความสูง โดยอาจเกิดฟ้าผ่าโดยตรงลงบนสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เสาไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า ส่งผลทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือทำให้อุปกรณ์เกิดความเสียหาย เช่น หม้อแปลงระเบิด สายไฟฟ้าขาด ได้ นอกจากนั้นยังส่งผลทางอ้อมด้วย โดยฟ้าผ่าไม่ได้ผ่าลงบนอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยตรง แต่ผ่าลงบนต้นไม้ที่มีตำแหน่งอยู่ใกล้กับเสาไฟฟ้า ต้นไม้ที่โดยฟ้าผ่าอาจล้มไปโดยเสาไฟฟ้า หรืออาจมีกิ่งไม้กระเด็นไปโดยสายส่งไฟฟ้าก็ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ได้เช่นกัน จากเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้ฟ้าผ่าไฟดับนั่นเอง
ปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก
ทำไมฝนตกไฟดับ? ฝนตกไฟดับเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป ส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน โดยปริมาณน้ำฝนจำนวนมากนี้ อาจสร้างความเสียหายต่อส่วนประกอบของฉนวนไฟฟ้า เช่น ส่วนข้อต่อ สวิชต์ ส่งผลทำให้ฟิลว์ขาดและสูญเสียกำลังไฟ หรือส่งผลทำให้อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าเสียหายหรือทำงานได้ไม่สมบูรณ์จากการรั่วซึมของน้ำฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอหรือมีการใช้งานมายาวนาน และหากมีฝนตกปริมาณมากและต่อเนื่องยาวนาน จนเกิดน้ำท่วม มวลน้ำจำนวนมากนี้จะซึมลงไปใต้ดิน และส่งผลเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ใต้ดินในลักษณะเดียวกันด้วยเช่นกัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้เกิดไฟฟ้าดับได้
ลมแรงจนเกิดอุบัติเหตุ
เมื่อเกิดลมกรรโชกแรงขณะเกิดฝนตกอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ลมพัดแผ่นป้ายโฆษณาล้มทับสายไฟฟ้า ลมที่แรงมากๆ อาจทำให้เสาไฟฟ้าที่รากฐานไม่มั่นคงหรือเอนเอียงอยู่ก่อนแล้วล้ม หรือ เศษกิ่งไม้หรือวัสดุต่างๆ เช่น ลูกโป่ง ผ้าคลุมพื้นที่ก่อสร้าง ที่อยู่ใกล้กับแนวสายไฟปลิวมาสัมผัสกับสายไฟ จนทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร จนเป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับในที่สุด
เกิดจากสัตว์ที่ได้รับผลกระทบตอนฝนตก
ฝนตกไฟดับนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากสัตว์บางชนิด โดยเฉพาะสัตว์ที่สามารถปีนป่ายขึ้นไปเกาะบนสายไฟฟ้าได้ เช่น กระรอก นก หนู หรือแม้แต่งูก็พบว่าทำให้เกิดไฟฟ้าดับได้เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนัก สัตว์เหล่านี้จะหลบน้ำฝนขึ้นไปยังเสาไฟฟ้า หรือ หลบในอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า เช่น แผงไฟฟ้า นอกจากจะกัดแทะสายไฟฟ้าแล้ว ยังทำให้อุปกรณ์เสียหาย เช่น หม้อแปลงระเบิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไฟฟ้าดับนั่นเอง
อุบัติเหตุจากยานพาหนะ
อุบัติเหตุเนื่องจากฝนตกทำให้เกิดไฟฟ้าดับได้อย่างไร เมื่อเกิดฝนตก น้ำฝนจะทำให้ถนนลื่น วิสัยทัศน์การมองเห็นของผู้ขับขี่ไม่ชัดเจนและแม่นยำ เมื่อเทียบกับสภาพปกติ อัตราการเกิดอุบัติเหตุในขณะที่ฝนตกจึงเพิ่มมากขึ้น การเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถชนเสาไฟฟ้า นั้นอาจส่งผลทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่นและสายไฟฟ้าขาด ระบบไฟฟ้าเกิดความเสียหายจึงทำให้บริเวณนั้นเกิดไฟฟ้าดับได้
โครงข่ายไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศที่ล้าหลัง ไม่มีระเบียบ และไม่มีมาตรฐาน เช่น สายไฟฟ้าที่พันกันไม่เป็นระเบียบ บางจุดห้อยระโยงระยางลงมาด้านล่าง เสาไฟฟ้าที่เอนเอียงไม่มั่นคง หรืออายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่นานเกินไปจนวัสดุเริ่มเสื่อมสภาพ เหล่านี้ล้วนส่งผลส่งเสริมให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับได้ โดยอาจเกิดขึ้นได้จาก รถบรรทุกหรือรถเครนขนาดใหญ่เกี่ยวสายไฟฟ้าที่ห้อยลงมาจนขาด หรือรั้งดึงจนทำให้เสาไฟฟ้าล้ม เกิดไฟไหม้บริเวณสายไฟฟ้าที่พันกันยุ่งเหยิง หรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจากอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพ
การตัดไฟฟ้าของเจ้าหน้าที่
เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไฟฟ้า ในบางครั้งเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องมีการตัดระบบไฟฟ้าเพื่อเข้าทำการซ่อมบำรุง เปลี่ยนอุปกรณ์ หรือตรวจสอบการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ โดยเมื่อจำเป็นต้องตัดระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ จะทำการประกาศวันและเวลาให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทราบล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือเมื่อไฟฟ้าดับ
ฝนตกไฟดับ ทําไงดี? รวมวิธีรับมือกับไฟดับตอนฝนตก
ไฟฟ้านั้นถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจวัตรประจำวันของเรา เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับขึ้นมา จึงควรเตรียมการรับมือด้วยวิธีการที่เหมาะสม นอกจากเหตุผลหลักทางด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังเพื่อเป็นการคงสภาพความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตให้ได้มากที่สุดในภาวะที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นนี้ วิธีการรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการเกิดฝนตก เช่น ฟ้าผ่าไฟดับ ทำได้อยู่หลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
ทำให้อากาศภายในบ้านถ่ายเท
ในระหว่างที่ฝนตกไฟดับ หรือเกิดจาก ฟ้าผ่าไฟดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยสร้างความเย็นและระบายอากาศ เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลม จะไม่สามารถใช้งานได้ การออกไปนอกบ้านเพื่อหาสถานที่หลบร้อนในขณะที่ฝนตกลมแรง อาจไม่สะดวกและเป็นอันตรายโดยเฉพาะเมื่อเกิดในตอนกลางคืน เพื่อให้อากาศถ่ายเท และลดอุณหภูมิภายในบ้าน ไม่ให้ร้อนอบอ้าวจนเกินไป จึงควรเปิดประตู หน้าต่างไว้เท่าที่จำเป็น ข้อควรระวังคือไม่ควรเปิดกว้างเกินไป เพราะอาจทำให้ฝนสาดเข้ามาในตัวบ้าน โดนข้าวของ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย หรือในกรณีที่มีลมกรรโชกแรง อาจพัดประตูหน้าต่างกลับเข้ามากระแทกกับตัวบ้าน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้
ใช้ไฟฉาย ไฟสำรอง หรือเทียน
เพื่อเป็นการรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นมาโดยไม่คาดฝัน เช่น ฟ้าผ่า ไฟดับ ควรมีการสำรองอุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น เทียนไข ไฟฉาย ไฟสำรองอยู่เสมอ โดยอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ ต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำ ให้สามารถนำมาใช้งานได้ทันที เช่น ไฟฉายและไฟสำรองควรมีแบตเตอรี่เพียงพอ เทียนไขควรเตรียมไม้ขีดไฟหรือไฟแช็กอยู่คู่กันด้วย และต้องวางไว้ในจุดที่สามารถนำมาใช้งานได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม การนำอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้มาใช้งาน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เช่น เมื่อจุดเทียนไข ควรวางเทียนไขบนฐานที่ทนความร้อน ไม่ติดไฟง่าย และมีความมั่นคง เพราะฐานที่วางอาจหลอมละลาย เกิดการเผาไหม้ หรือล้ม ส่งผลทำให้เกิดอัคคีภัยได้ และต้องดับไฟให้เรียบร้อยเมื่อไฟฟ้ากลับมาแล้ว ส่วนการใช้ไฟฉายจากมือถือนั้น ก็สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกัน ข้อควรระวังเมื่อใช้มือถือขณะฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะในกรณีที่ฟ้าผ่าไฟดับ ถึงแม้มือถือจะไม่ได้เหนี่ยวนำให้เกิดฟ้าผ่า แต่อาจเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาทำให้แบตเตอรี่เสื่อม หรือเกิดระเบิดได้ ถึงแม้โอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อยมากก็ตาม
นอกจากนั้นการมีเครื่องสำรองไฟไว้ใช้ นอกจากจะช่วยลดระดับความเสียหายและป้องกันอันตรายของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้า เช่น ไฟดับ ไฟตก ไฟกระชาก แล้ว ยังเป็นแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าสำรองเพื่อให้มีเวลาพอในการบันทึกไฟล์งานที่กำลังทำค้างอยู่ ด้วย
ปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออก
เมื่อฟ้าผ่า ไฟดับ หรือ ฝนตก ไฟดับ หรือไฟฟ้าดับจากเหตุการณ์อื่น ควรปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไฟกระชากเมื่อไฟฟ้ากลับคืนมา
เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว การติดตั้งเครื่องสำรองไฟฟ้าไว้เพื่อให้มีแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าสำรอง ช่วยให้มีเวลาเพียงพอต่อการปิดสวิชต์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน นอกจากนั้นยังมีประโยชน์สำหรับบ้านที่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องมือช่วยชีวิต เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องสำรองไฟจะช่วยจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อพยุงให้เครื่องมือทำงานต่อไปได้อีก มีเวลาในการรอรถพยาบาลมารับเมื่อต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล
หลีกเลี่ยงการเปิดใช้ตู้เย็น
เมื่อไฟฟ้าดับและตู้เย็นไม่ทำงาน ของสดหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องแช่เย็นอาจเสียได้ง่าย ดังนั้นจึงควรเก็บรักษาความเย็นภายในตู้ไว้ให้นานที่สุด การไม่เปิดตู้เย็นเลยหลังจากไฟฟ้าดับ ช่องเย็นจะรักษาความเย็นต่อเนื่องได้อีก 4 ชั่วโมง และยาวนานถึง 48 ชั่วโมงสำหรับช่องแช่แข็ง การลดการเปิดตู้เย็นจะทำให้ความเย็นภายในตู้เย็นไม่รั่วไหลมา เป็นการช่วยถนอมอาหารและรักษาความสดไว้ให้นานที่สุด จนกว่าไฟฟ้าจะกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราก็ได้ทราบเหตุผลแล้วว่าทำไมฟ้าผ่า ไฟดับ หรือ ฝนตกไฟดับเกิดจากอะไร โดยเหตุการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ เหล่านี้ เช่น ฝนตก ฟ้าผ่า พายุ สามารถส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับได้ทั้งทางตรง โดยการสร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าโดยตรง เช่น ฟ้าผ่าลงหม้อแปลงไฟฟ้า หรือส่งผลทางอ้อมโดยทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ระบบไฟฟ้าเกิดความเสียหาย เช่น ฝนตกทำให้ถนนลื่นเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ รถชนเสาไฟฟ้า เป็นต้น เมื่อไฟฟ้าดับ ก็มีวิธีการรับมือได้หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมอุปกรณ์ให้พลังงานและแสงสว่างสำรอง การดูแลรักษาและป้องกันความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ดึงปลั๊กออกขณะเกิดไฟดับ เป็นต้น
นอกจากนั้น จากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องจากฝนตกมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น มีลูกเห็บถล่ม เป็นต้น โอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าดับจากฝนตกจึงเพิ่มขึ้น และมีความถี่มากขึ้น ดังนั้น การมีเครื่องสำรองไฟไว้จึงมีความจำเป็น เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันความเสียหายและความเสื่อมถอยของของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้า และช่วยคงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นยืดอายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องซื้อเปลี่ยนเครื่องใหม่บ่อยๆ นั่นเอง