รู้ลึก 5 ปัญหาไฟฟ้าที่พบบ่อย พร้อมแนวทางแก้ไข ตัดต้นตอความเสี่ยง
ปัญหาไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้ทั่วไปทั้งภายในบ้านหรือออฟฟิศบริษัท หลายครั้งสาเหตุเกิดจากไฟฟ้าที่ไม่เสถียรจากปัจจัยภายในและภายนอกที่คาดไม่ถึง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า กระทั่งทรัพย์สินภายในบ้าน วันนี้เราจะมาเล่าถึง 5 ปัญหาไฟฟ้าที่พบเจอได้ทั่วไป เพื่อทำความรู้จักกับสาเหตุและหาแนวทางแก้ไขป้องกัน ไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้อาศัยและอุปกรณ์ไฟฟ้า
1. ปัญหาไฟดับ
ไฟดับ คือ การที่เครือข่ายพลังงานไฟฟ้าเกิดความเสียหาย มีอาการไฟสูญใช้งานไม่ได้ชั่วขณะ มักเกิดบ่อยในช่วงหน้าฝน ฝนตกไฟดับ ลมแรง หรือมีพายุ บางครั้งอาจเกิดจากการขัดข้องหรือชำรุดของอุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบจ่ายไฟ การลัดวงจรของระบบส่งไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งปัญหาไฟดับก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะสถานที่ที่จำเป็นต้องใช้ไฟในเรื่องของความปลอดภัย อาทิ โรงพยาบาล
สาเหตุของไฟดับ
ไฟดับเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ การหาสาเหตุที่ถูกต้องจะช่วยให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
- ระบบไฟฟ้าขัดข้อง – สาเหตุจากการใช้ไฟฟ้าเกินกำลังจนเกิดปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าช็อต ไฟตก
- ภัยธรรมชาติ – เช่น ฝนตก พายุ ไฟป่า หรือฟ้าผ่า ทำให้ฟิวส์หรืออุปกรณ์ป้องกันบางอย่างเกิดทำงานผิดปกติ หรือ ชำรุด
- สภาพแวดล้อม – ส่วนใหญ่เกิดจากต้นไม้ที่ขึ้นสูงรบกวนการทำงานของสายไฟ จนเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
- สัตว์ – สัตว์ใดๆ ก็ตามที่ขึ้นไปอยู่บนเสาไฟฟ้า หรือสายไฟฟ้า ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรอุบัติเหตุ – เห็นได้ชัดเลยว่าอุบัติเหตุประมาททางรถยนต์ อย่างขับรถชนเสาไฟฟ้า มักจะก่อให้เกิดปัญหาไฟดับตามมา
- ระบบผลิตไฟฟ้าขัดข้อง – เกิดการดับกะทันหัน ไม่ทราบสาเหตุ
- การไฟฟ้าดับกระแสไฟฟ้า – การทำงานของทางการไฟฟ้าที่จำเป็นต้องตัดกระแสไฟฟ้า เพื่อบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าตามพื้นที่ต่างๆ
- ค้างค่าชำระบริการ – เป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ไฟใช้งานไม่ได้ อาจเกิดจากการค้างชำระค่าบริการ อย่าลืมตรวจสอบก่อนว่าเราลืมชำระค่าบริการเดือนนี้หรือเปล่า
ผลเสียของไฟดับที่ส่งผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า
ปัญหาไฟดับส่งผลเสียแก่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์ เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องซักผ้า การที่มอเตอร์หยุดชะงักกะทันหัน ทำให้เกิดความเสียหายได้หากเกิดไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง หรือเกิดข้อมูลสูญหายหรือเสียหายในอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ หรือระบบจัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ไม่ได้ปิดอย่างถูกต้อง
แนวทางและวิธีแก้ไขเมื่อไฟดับ
เมื่อไฟดับเราควรมีสติ รับมือและแก้ไขปัญหาไฟดับจากสาเหตุต่างๆ โดยสามารถปฏิบัติตามได้ดังนี้
- หาสาเหตุของไฟดับ – ตั้งสติและพิจารณาสาเหตุปัญหาไฟดับที่เกิดขึ้น เพื่อรับมืออย่างถูกต้อง
- ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด – ควรปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทั้งหมด ป้องกันไฟกระชาก ก่อความเสียหายแก่เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการแรงไฟฟ้าคงที่ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น
- ถอดปลั๊กตู้เย็น – ถอดปลั๊กตู้เย็นทันทีและปิดให้สนิท เพื่อรักษาความเย็นให้มากที่สุด เว้นแต่ถ้าเป็นตู้เย็นประตูเดียว สามารถนำอาหารออกมาป้องกันไม่ให้อาหารเน่าเสียจากการที่น้ำแข็งละลาย
- ประหยัดพลังงาน – ควรเซฟแบตโทรศัพท์ไว้เพื่อติดต่อเผื่อมีเหตุจำเป็น โดยเปลี่ยนเป็นโหมดพลังงาน เคลียร์แอปพลิเคชันที่ไม่จำเป็น
- เปิดหน้าต่างระบายอากาศ – เมื่อพัดลมและเครื่องปรับอากาศไม่สามารถใช้งานได้ ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
- เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น – เช่น ไฟฉาย เทียน หรือไฟแช็ก ให้กับบริเวณที่จำเป็นต้องมีแสงสว่าง
- แจ้งเจ้าหน้าที่ – ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งปัญหา และรอรับการแก้ไขได้ที่การไฟฟ้านครหลวง โทร 1130 และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร 1129
- ติดตั้งเครื่อง UPS – ติดตั้งเครื่องสำรองไฟ UPS เพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดอย่างไฟดับ ลดการเกิดอันตรายแก่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
2. ปัญหาไฟตก
ปัญหาไฟตกเกิดจากอะไรได้บ้าง? ปัญหาไฟตกเกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่พบบ่อยครั้งในบ้านและออฟฟิศ หากเกิดขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังทำงานอยู่ ปัญหาไฟตกจะทำให้จ่ายกระแสไฟได้ไม่เต็มที่ เกิดอาการติดๆ ดับๆ เกิดความเสียหายแก่เครื่องเครื่องใช้ไฟฟ้า
สาเหตุของไฟตก
ต้นตอของสาเหตุของไฟตก มีตั้งแต่สาเหตุใกล้ตัวไปจนถึงสาเหตุไกลตัว จึงควรทราบสาเหตุเพื่อรับมือได้อย่างถูกวิธี
- ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกัน – การใช้งานพร้อมกันอาจทำให้แต่ละเครื่องได้รับไฟฟ้าไม่เต็มที่ เพราะใช้กระแสไฟฟ้าสูงเกินกำลัง
- ปลั๊กไม่ได้มาตรฐาน – ปลั๊กไฟที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นอีกสาเหตุของการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
- การกระชากของกระแสไฟฟ้า – เกิดจากอุปกรณ์บางชนิดกินกำลังไฟอัตราสูงเกินไปจนเกิดการกระชากไฟ ซึ่งต่างจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกัน
- ตัวนำกระแสไฟฟ้าขัดข้อง – ไฟช็อตจากตัวกลางในการจ่ายกระแสไฟฟ้าภายในบ้าน ควรติดต่อช่างไฟมาแก้ไขโดยด่วน
- กระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน – สายดินที่เสื่อมอายุ ทำให้แรงดันไฟที่ส่งไฟยังบ้านเรือนตก
- ละแวกบ้านใช้ไฟฟ้าเยอะไป – ต้นทางไฟฟ้าเกิดจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอ
- ระยะห่างจากแหล่งจ่ายพลังงาน – หากแหล่งจ่ายพลังงานอยู่ไกล สามารถทำให้แรงดันไฟฟ้าตกได้เช่นเดียวกัน
- สภาพอากาศ – สภาพแปรปรวนในช่วงหน้าฝน ฟ้าร้อง ฟ้าคะนองอาจรบกวนการทำงานของกระแสไฟได้
ผลเสียของไฟตกที่ส่งผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า
ผลเสียของไฟตกอาจรุนแรงกว่าที่คาดคิด การที่เครื่องไฟฟ้าหยุดทำงานจากกระแสไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมอ อาจทำให้อุปกรณ์ที่มีความละเอียดอ่อนภายในได้รับความเสียหาย ร่นอายุการใช้งาน อีกทั้งอาจเสื่อมสภาพก่อนกำหนด หากไฟตกบ่อยอยู่บ่อยครั้ง อาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรและเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานขัดข้องเป็นจุดกำเนิดของสาเหตุไฟไหม้อีกด้วย
แนวทางและวิธีแก้ไขเมื่อไฟตก
ควรตั้งสติเป็นอย่างแรกเมื่อไฟตก จากนั้นจึงหาวิธีแก้ไขที่เหมาะกับสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟสูง – เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์
- เลือกอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าที่เหมาะสม – เลี่ยงไปใช้อุปกรณ์ที่จ่ายไฟต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งไฟกัน
- ไม่ใช้สายไฟชำรุด – ตรวจสอบสภาพการใช้งานของสายไฟ หากพบว่าชำรุดควรแจ้งช่างให้ดำเนินการเปลี่ยนใหม่
- ถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้ – ลดความเสียหายจากกระแสไฟฟ้าไหลกลับ
- เลือกปลั๊กพ่วงที่มีมาตรฐาน – เลือกปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพ เลือกสายไฟและเต้ารับที่มีเครื่องหมาย มอก. หรือมาตรฐานของ IEC และมีระบบตัดไฟอัตโนมัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ หรือไฟกระชาก
- หมั่นตรวจระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้า – เช็กอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ว่าทำงานปกติหรือไม่
- ติดตั้งเครื่อง Stabilizer – ติดตั้งเครื่อง Stabilizer ทำหน้าปรับแรงดันให้คงที่ สามารถใช้เครื่องไฟฟ้าต่อได้ไม่สะดุดกังวลใจ ป้องกันอันตรายต่อชีวิต เครื่องใช้ไฟฟ้าและทรัพย์สินภายในบ้าน โดยไม่ต้องควบคุมเครื่องขณะใช้งาน
3. ปัญหาไฟเกิน
ปัญหาไฟเกิน เกิดจากสภาวะของกระแสไฟมากผิดปกติเกินควบคุมได้ โดยแรงดันไฟฟ้าไหลผ่านตัวนำเกิน 220v ในระยะเวลาสั้นๆ กระแสเกินพิกัด แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ โหลดเกิน และ การเกิดการลัดวงจรหรือที่เรียกว่าไฟช็อต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นำไปสู่ภยันตรายอย่างไฟไหม้
สาเหตุของไฟเกิน
สาเหตุของไฟเกินส่วนใหญ่แล้ว มักมาจากการใช้กระแสไฟฟ้ามาเกินไป หรือสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจร
- การโอเวอร์โหลดของวงจร – อาจเกิดจากมอร์เตอร์กินไฟมาก แรงดันไฟฟ้าส่วนหนึ่งที่เหลืออยู่ในมอเตอร์ จะไหลกลับเข้าระบบไฟฟ้าทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าสูงเกินชั่วขณะ
- การลัดวงจร – มีความต้านทานตามเส้นทางลัดวงจรต่ำกว่าเส้นทางปกติของวงจร ทำให้กระแสไหลมาก ส่งผลให้ลวดร้อนเกินไป
- ความผิดพลาดของอาร์ค – ความผิดปกติที่ไม่สามารถตรวจจับการคายประจุไฟฟ้าได้ทำให้เกิดความร้อนฉับพลัน
- การเชื่อมต่อไม่ดี – สายไฟหลวม หรืออุปกรณ์อื่นๆ อย่างเต้ารับชำรุด การติดตั้งไม่ถูกต้องหรือการฉีกขาดของฉนวนลวด ทำให้เกิดช่องโหว่ให้กระแสไฟออกมา
ผลเสียของไฟเกินที่ส่งผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า
แม้ว่าไฟเกินอาจฟังดูว่าส่งผลอันตรายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าสาเหตุอื่น แต่จริงๆ แล้วปัญหาไฟเกินอาจทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าในบ้านที่อันตรายต่อทรัพย์สินและคนอยู่อาศัย ที่สาเหตุมาจากความร้อนหรือไฟฟ้ารั่วออก
แนวทางและวิธีแก้ไขเมื่อไฟเกิน
เมื่อไฟเกินควรแบ่งวงจรแยกสำหรับแต่ละห้องในบ้าน แนวทางในการแก้ไขปัญหาไฟเกิน ได้แก่
- คำนวณโหลดวงจร – ตรวจสอบแหล่งพลังงานว่าเหมาะกับที่จะจ่ายไฟใช้งานเครื่องนั้นๆ โดยไม่เกิดการลัดวงจรหรือไม่
- ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างระมัดระวัง – แยกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้งานหนัก เช่น เครื่องอบผ้าหรือเตาอบที่ต้องใช้สายแยกเฉพาะ
- ให้ไฟ LED เป็นสิ่งสำคัญ – ใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดไฟทั่วไปอย่างมาก ช่วยประหยัดเงินค่าไฟฟ้าและลดแรงดันในการเดินสายไฟเพื่อหลีกเลี่ยงกระแสไฟเกิน
- ใช้อุปกรณ์ป้องกัน – บำรุงรักษาเบรกเกอร์เป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าเบรกเกอร์ทำงานอย่างถูกต้อง ตรวจกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติ
4. ปัญหาไฟกระชาก
ไฟกระชาก คือการที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เนื่องจากแรงดันไฟฟ้านั้นไม่เสถียรขาดๆ เกินๆ จาก 220V ในช่วงเวลาหนึ่งอย่างรวดเร็ว เครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพจึงเกิดการหยุดชะงักลง หากไม่ทำการแก้ไขอาจเกิดปัญหาวงจรไฟฟ้ารุนแรงตามมาได้
สาเหตุของไฟกระชาก
สาเหตุการเกิดไฟกระชากคล้ายคลึงกับไฟตก เกิดได้จากหลายปัจจัยคล้ายกัน เช่น ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างฟ้าผ่า หรือการวางระบบไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สายไฟชำรุดทำให้เสียแรงดันไฟฟ้า สัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า หรือการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอัตราการกินไฟในปริมาณมากพร้อมกัน เป็นต้น
ผลเสียของไฟกระชากที่ส่งผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า
ปัญหาไฟฟ้าจากไฟกระชากสามารถส่งผลเสียหายแก่อุปกรณ์ไฟฟ้าที่สำคัญอย่าง คอมพิวเตอร์ โดยอุปกรณ์จ่ายไฟ หรือ Power Supply Unit (PSU) ทำงานได้ไม่ตามปกติ หน้าจอดับ ข้อมูลสูญหาย ส่งผลเสียต่องานหรือธุรกิจ รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เสื่อมประสิทธิภาพลง
แนวทางและวิธีแก้ไขเมื่อไฟกระชาก
เพื่อรับมือกับไฟกระชาก ควรมีระบบกันไฟกระชาก (Surge Protector) หรือเครื่องสำรองไฟ (UPS) ติดบ้านหรือออฟฟิศไว้ โดยรับพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) และแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ซึ่งเก็บไว้ในแบตเตอรี่สำรอง พลังงานที่เก็บไว้นี้สามารถใช้เพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่สม่ำเสมอและปลอดภัยให้กับคอมพิวเตอร์ ในกรณีที่ไฟฟ้าดับหรือมีความผันผวน UPS ช่วยให้มั่นใจได้ถึงแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้สำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วยป้องกันการหยุดชะงักหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
5. ปัญหาสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า
สัญญาณรบกวนที่มีความถี่สูงอาจทำให้วงจรควบคุมหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นชั่วคราว ไม่ต่อเนื่อง หรือถาวร การรบกวนสามารถเกิดขึ้นได้สองประเภทหลัก คือการรบกวนทางกายภาพหรือที่เรียกว่าการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMI) และการรบกวนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFI)
สาเหตุของสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า
โดยทั่วไป สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดปัญหาไฟกระชากมาจากปัจจัยภายนอกเช่น ภัยธรรมชาติหรือการกระทำของมนุษย์
สัญญาณรบกวนไฟฟ้าที่เกิดจากธรรมชาติ
สัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าสามารถเกิดจากธรรมชาติอย่าง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ และสนามแม่เหล็กของโลก รวมทั้งพายุต่างๆ
สัญญาณรบกวนไฟฟ้าที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้าง
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น มอร์เตอร์ไฟฟ้า อุปกรณ์ไร้สาย โทรศัพท์เหล่านี้ สามารถรบกวนและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
ผลเสียของสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าที่ส่งผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า
ผลความเสียหายจากสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ได้ยินเสียงแปลกๆ ออกจากเครื่อง จอแสดงผลกะพริบ ผันผวน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ดับ ระบบโทรศัพท์รวน เครื่องมือทำงานต่างๆ ทำงานผิดปกติ ความเร็วของสัญญาณเครือข่ายลดลง อาจทำให้เกิดปัญหาข้อมูลสูญหายระหว่างรับส่งได้
แนวทางและวิธีแก้ไขเมื่อมีสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า
การหลีกเลี่ยงสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าทำได้แต่ยาก แต่สามารถลดการเกิดด้วยวิธีแก้ ดังนี้
- ติดตั้งระบบกราวด์ให้ดี – เป็นขั้นตอนแรกที่ป้องกันปัญหาสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า สายดินที่ติดตั้งอย่างเหมาะสม
- ไม่วางอุปกรณ์สร้างสัญญาณสูงใกล้กัน – เลือกตำแหน่งวางอุปกรณ์ปกรณ์บางชนิดที่มักสร้างสัญญาณรบกวนสูง เช่น หม้อแปลง ห่างกันเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวน
- ลดความถี่ของความถี่พาหะ – หมายถึงการลดความถี่ที่สัญญาณรบกวนถูกส่งเพื่อสร้างสัญญาณสำหรับหน่วยปรับความกว้างพัลส์ (PWM) ในการจ่ายกำลังมอเตอร์ จำนวนยูนิต PWM ที่ใช้อาจส่งผลต่อการรบกวน
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันการเกิดสัญญาณ – ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันสัญญาณรบกวนโดยเฉพาะ เพื่อกรองสัญญาณแปลกปลอมออก และป้องกันการรั่วไหลของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า
ปัญหาไฟฟ้าทั้ง 5 อย่างนี้พบเจอได้ทั่วไป หากเรารู้สาเหตุที่แท้จริงและวิธีปัองกันแล้ว เมื่อเจอปัญหาก็มั่นใจได้เลยว่าเราจะสามารถรับมือและลดความเสี่ยงต่ออุปกรณ์จากปัญหาไฟฟ้าน้อยลง หากปัญหาไม่ได้เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือวงจรไฟฟ้าภายในบ้าน อาจมีปัญหาด้านฝ่ายไฟฟ้าเขตพื้นที่ ให้ติดต่อโรงไฟฟ้าใกล้บ้านของคุณ เพื่อทำการรายงานปัญหาไฟฟ้าและร้องขอให้ช่วยแก้ไข โดยทั่วไปแล้ว หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้า สามารถติดต่อศูนย์บริการลูกค้า ของบริษัทผู้ให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่ของคุณได้ เพื่อขอความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ที่บ้านหรือที่ออฟฟิศควรจะมีเครื่องสำรองไฟ ป้องกันผลเสียจากปัญหาไฟฟ้าที่จะตามมา อาจทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือถึงขั้นที่ต้องซื้อใหม่ ดังนั้นการป้องกันจึงดีกว่าการแก้ไขอย่างแน่นอน