รวมคำศัพท์ทางไฟฟ้าที่น่ารู้และน่าสนใจ เจอได้ในชีวิตประจำวัน
คำศัพท์ทางไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เราควรศึกษาเกี่ยวกับความหมายของมันเผื่อไว้บ้าง เพราะเรื่องของไฟฟ้านั้นมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้าเพื่อดำรงชีวิตหรือเพื่อความบันเทิงก็แล้วแต่ ฉะนั้นแล้วการที่เรามีความรู้ในเรื่องของคำศัพท์เกี่ยวกับไฟฟ้าก็จะเป็นการดี โดยทางบทความนี้จะขอเสนอศัพท์ทางไฟฟ้าพื้นฐานที่ควรรู้ เช่น Load คืออะไร backup time คืออะไร เพื่อให้ท่านผู้อ่านรู้ศัพท์เกี่ยวกับไฟฟ้าพื้นฐาน เมื่อเกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้นจะได้สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างถูกต้องตามหลักการหรือมีความเข้าใจว่าควรเริ่มแก้ไขอย่างไร
ไฟฟ้ากระแส คือ
ไฟฟ้ากระแสคงเป็นศัพท์ทางไฟฟ้าอีกคำหนึ่งที่ทุกท่านเคยได้ยินผ่านหูอยู่บ่อยๆ โดยไฟฟ้ากระแสมีความหมายโดยแท้จริงว่าเป็นการเคลื่อนที่ของอนุภาคอิเล็กตรอนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยกระแสไฟฟ้าจะไหลมากหรือน้อยในระบบนั้นขึ้นอยู่กับความต้านทานที่มีอยู่ในวงจรด้วย
ไฟฟ้ากระแสตรง (DC)
ไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current) เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีทิศทางการไหลของไฟฟ้าไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ไม่มีการไหลย้อนกลับของกระแสไฟ โดยไฟฟ้ากระแสตรงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- แบบสม่ำเสมอ เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีคลื่นการไหลที่สม่ำเสมอ สามารถได้กระแสแบบสม่ำเสมอจากแบตเตอรี่ เป็นต้น
- แบบไม่สม่ำเสมอ เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีคลื่นการไหลที่ไม่สม่ำเสมอ สามารถได้กระแสแบบไม่สม่ำเสมอจากไดนาโม เป็นต้น
ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC)
ไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating current) เป็นวงจรที่กระแสไฟฟ้ามีการวิ่งสลับประจุกันของขั้วบวกและขั้วลบย้อนกลับกันไปมา เหมาะสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารที่อยู่อาศัย
วงจรไฟฟ้า คือ
วงจรไฟฟ้าก็เป็นอีกศัพท์ทางไฟฟ้าที่ได้ยินบ่อยเช่นกัน โดยวงจรไฟฟ้าก็คือระบบระบบหนึ่งที่ต้องประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ เพื่อจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถใช้งานได้ โดยส่วนประกอบต่างๆ มีดังข้อมูลด้านล่าง ดังนี้
แหล่งจ่ายไฟฟ้า
แหล่งจ่ายไฟฟ้าคืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวจ่ายกระแสไฟให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยจะเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าให้ตรงกับย่านแรงดันไฟฟ้าที่จะใช้งาน ซึ่งแหล่งจ่ายไฟฟ้าถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบตามการใช้งาน ได้แก่
- แหล่งจ่ายไฟตรง ทำหน้าที่ปรับแรงดันไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดให้ตรงกับค่าที่ต้องการใช้ เช่น เปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าบ้านจาก 220 โวลต์เป็น 5 โวลต์
- แหล่งจ่ายไฟสลับ ทำหน้าที่ปรับค่าแรงดันและความถี่ให้ตรงกับการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้า
ตัวนำไฟฟ้า
ตัวนำไฟฟ้าเป็นตัวกลางหรือเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้า (แหล่งจ่ายไฟ) และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยจะส่งผ่านกระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าให้สามารถทำงานได้ โดยมีการควบคุมผ่านสิ่งที่เรียกว่าสวิตช์เปิด-ปิดนั่นเอง
เครื่องใช้ไฟฟ้า
เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีในทุกครัวเรือนอย่างน้อยหนึ่งชิ้นอย่างแน่นอน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้าให้กลายเป็นพลังงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้งาน เช่น
- พลังงานเสียง : โทรศัพท์ วิทยุ
- พลังงานแสง : หลอดไฟ
- พลังงานความร้อน : เตารีด เครื่องทำน้ำอุ่น
Load คือ
Load คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่นำมาต่อกับแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าอีกทีหนึ่งเพื่อแปลงพลังงานไฟฟ้าให้หลายเป็นพลังงานด้านอื่นๆ ตามความต้องการใช้งาน ซึ่งโหลดไฟฟ้าอาจเป็นได้ทั้งตัวต้านทาน ตัวเหนี่ยวนำ หรืออื่นๆ โดยจะแยกตามประเภทการใช้งานดังต่อไปนี้
ประเภท Resistive
โหลดประเภท Resistive หรือโหลดตัวต้านทานจะใช้พลังงานเพื่อให้แรงดันและกระแสไฟฟ้าอยู่ในเฟสเดียวกัน เป็นโหลดที่ใช้กับเครื่องใช้ที่ต้องสร้างความร้อนขึ้นมา เช่น หม้อหุงข้าว เครื่องทำน้ำอุ่น หลอดไฟ โหลดประเภท Inductive นี้จะมีคลื่นกระแสไฟฟ้าเท่ากับแรงดันไฟฟ้าและจะไม่สร้างแรงกระชากเมื่อปิดอุปกรณ์
ประเภท Inductive
โหลดประเภท Inductive เป็นโหลดที่ใช้กับเครื่องใช้ที่มีการเคลื่อนไหว เช่น พัดลม เครื่องซักผ้า โดยจะใช้ขดลวดในการสร้างสนามแม่เหล็กขึ้นมา โหลดประเภท Inductive นี้คลื่นกระแสไฟฟ้าจะช้ากว่าแรงดันไฟฟ้า
ประเภท Capacitive
โหลดประเภท Capacitive เป็นโหลดที่ใช้ตัวเก็บประจุไฟฟ้า โดยจะมีรูปแบบของคลื่นกระแสไฟฟ้านำหน้าแรงดันไฟฟ้า ตัวอย่างของโหลดประเภท Capacitive เช่น สายเคเบิลแบบฝัง
ขดลวดที่ทำหน้าที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาเมื่อมีการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดขึ้นนั้น เรียกว่า เฟสไฟฟ้า โดยหากมีขดลวด 1 ชุดจะเรียกว่า ระบบไฟฟ้า 1 เฟส เป็นต้น
ระบบไฟฟ้า 3 เฟส
ระบบไฟฟ้า 3 เฟส เป็นระบบไฟฟ้าที่นิยมนำไปวางระบบเพื่อใช้กับสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เช่น หมู่บ้านจัดสรรทั้งหมู่บ้าน โรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ เป็นต้น เนื่องจากว่าระบบไฟฟ้า 3 เฟสนี้เป็นระบบที่มีแรงดันไฟฟ้าในระบบเป็นจำนวนมาก โดยจะมีแรงดันไฟฟ้าประมาณ 380 โวลต์ จึงทำให้ระบบให้ไฟฟ้าได้มากกว่าระบบไฟฟ้าแบบ 1 เฟส แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าติดตั้งระบบ ตามมาด้วยเช่นกัน ข้อดีของการวางระบบไฟฟ้า 3 เฟสคือ เมื่อเกิดปัญหาไฟดับจะไม่ได้เกิดการดับทั่วทั้งบริเวณอาคาร เนื่องจากมีการแยกเฟสของระบบไฟฟ้าไว้
ระบบไฟฟ้า 1 เฟส
ระบบไฟฟ้า 1 เฟส เป็นระบบไฟฟ้าที่เหมาะสำหรับใช้กับการวางระบบไฟฟ้าของอาคารบ้านเรือนขนาดปกติทั่วไป โดยจะมีแรงดันไฟฟ้าประมาณ 220 โวลต์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟดับจะทำให้เกิดไฟดับทั่วทั้งบริเวณ ข้อดีคือการติดตั้งวางระบบไม่ยุ่งยากและราคาไม่ได้แพงมากนัก
มิเตอร์ไฟฟ้า
มิเตอร์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่สามารถพบได้ทุกอาคารสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ไฟฟ้า โดยมีหน้าที่วัดปริมาณของกำลังไฟฟ้าที่ถูกใช้ไปภายในตัวอาคาร
ไฟตก ไฟเกิน ไฟกระชาก
ไฟตก
ไฟตก คือ ช่วงเวลาที่แรงดันไฟฟ้าไม่คงที่ ซึ่งจะมีแรงดันที่ต่ำกว่าค่าแรงดันไฟฟ้ามาตรฐานบ้านประเทศไทย นั่นคือ 220 โวลต์ ซึ่งสาเหตุของการเกิดไฟตกนั้นมาจากหลายสาเหตุ โดยอาจมาจากการใช้ไฟฟ้าที่มากเกิน การที่แหล่งที่อยู่อาศัยไกลจากแหล่งจ่ายไฟ หรือสภาพอากาศที่แปรปรวนก็สามารถก่อให้เกิดไฟตกได้
ไฟเกิน
ไฟเกิน คือ การที่ไฟฟ้ามีแรงดันที่เพิ่มขึ้น จนอยู่ในเกณฑ์ที่มากเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ภายในบ้านมีความร้อนที่มากขึ้น แต่การที่แรงดันไฟฟ้ามีกระแสไฟฟ้าเกินในระบบนี้มักจะเกิดในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น สาเหตุของไฟเกินก็มาจากการที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกำลังวัตต์สูงในเวลาพร้อมกัน เช่น เปิดแอร์ทุกตัว เตารีด และไมโครเวฟพร้อมกัน เป็นต้น ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดไฟฟ้าคงเหลือที่ค้างอยู่ในระบบสูงเกิน นี่จึงเป็นต้นเหตุของการเกิดไฟเกินในระยะหนึ่ง
ไฟกระชาก
และสุดท้ายคือ การที่แรงดันไฟฟ้าในระบบเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากภายใต้ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น หรือที่นิยมเรียกกันว่า ไฟกระชาก โดยไฟกระชากส่วนมากจะมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศ เช่น ฟ้าผ่า และไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่ไม่สามารถคาดเดาเวลาเกิดที่แน่นอนได้ทั้งคู่ นอกจากนี้การเกิดไฟกระชากจะส่งผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีความเสียหายตามมาได้
ซึ่งปัญหาไฟตก ไฟเกิน ไฟกระชากนั้น สามารถทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดความเสียหายได้ แต่เราสามารถป้องกันและแก้ไขได้โดยใช้เครื่องสำรองไฟ (UPS) หรือ เครื่องรักษาระดับแรงดันไฟฟ้า (Stabilizer) เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเครื่องใช้ไฟฟ้าของคุณ
Backup Time คือ
Backup Time คือ ช่วงเวลาที่เครื่องสำรองไฟฟ้าดึงกระแสไฟฟ้าที่ถูกกักเก็บสำรองไว้มาใช้งานแทนแหล่งพลังงานหลัก โดยอาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีการดับของไฟฟ้า ไฟตก เป็นต้น ซึ่งคำว่า Backup Time ถือได้ว่าเป็นศัพท์ทางไฟฟ้าคำหนึ่ง โดยจะใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
จากที่ได้อ่านบทความรวมคำศัพท์ทางไฟฟ้าที่ท่านสามารถเจอได้ในชีวิตประจำวันไปแล้วนั้น ท่านก็จะมีความรู้ความเข้าใจในระดับพื้นฐานถึงความหมายของคำศัพท์เกี่ยวกับไฟฟ้า ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า และยังสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าให้ตรงตามความต้องการและความเหมาะสม และยังสามารถใช้งานไฟฟ้าได้อย่างถูกต้องซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น