fbpx

วิธีคิดค่าไฟ ดูจากมิเตอร์ได้หรือไม่ บิลค่าไฟประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

  • Home
  • เกร็ดความรู้
  • วิธีคิดค่าไฟ ดูจากมิเตอร์ได้หรือไม่ บิลค่าไฟประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
วิธีคิดค่าไฟ ดูจากมิเตอร์ได้หรือไม่ บิลค่าไฟประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

วิธีคิดค่าไฟ ดูจากมิเตอร์ได้หรือไม่ บิลค่าไฟประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

ปัจจุบันจะเห็นว่าค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนนั้นบางเดือนเพิ่มขึ้นสูงมาก นั่นเป็นเพราะต้นทุนค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้น หลายๆ คนยังไม่ทราบว่าค่าไฟในแต่ละเดือนสามารถคำนวณได้คร่าวๆ การทราบค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจะช่วยให้เจ้าของบ้านวางแผนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการประหยัดไฟในส่วนต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน

วิธีคิดค่าไฟด้วยตนเอง สามารถดูได้จากหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาคำนวณค่าไฟจากจำนวนหน่วยไฟฟ้า การศึกษาอัตราการคิดค่าไฟ การศึกษาองค์ประกอบของบิลค่าไฟ และศึกษาวิธีคิดค่าไฟจากมิเตอร์ โดยในแต่ละองค์ประกอบนั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง สามารถตามอ่านในบทความนี้ได้เลย

วิธีในการคิดค่าไฟด้วยตนเอง

วิธีในการคิดค่าไฟด้วยตนเอง

วิธีคำนวณค่าไฟด้วยตนเองนั้น ก่อนอื่นต้องศึกษาจำนวนวัตต์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านว่าแต่ละเครื่องมีกำลังไฟฟ้ากี่วัตต์ หากมีจำนวนวัตต์มากแสดงถึงการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นไปตามนั้น และต้องสำรวจว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเปิดใช้งานประมาณเดือนละกี่ชั่วโมง

    • สูตรวิธีคำนวณหน่วยไฟฟ้า
    • กำลังไฟฟ้า (วัตต์) x จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า ÷ 1000 x จำนวนชั่วโมงที่ใช้ใน 1 วัน = จำนวนหน่วยต่อวัน (ยูนิต)
    • ตัวอย่าง
    • การคำนวณค่าไฟของตู้เย็นขนาด 125 วัตต์ เปิดใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง :
    • (125 x 1 ÷ 1000) x 24 = 3 หน่วยต่อวัน เท่ากับเดือนละ 90 หน่วย

โดยสูตรวิธีคิดนี้สามารถนำไปคำนวณกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านได้ เมื่อทราบจำนวนหน่วยค่าไฟแล้วก็นำไปคำนวณกับราคาค่าไฟต่อหน่วย จะช่วยทำให้เจ้าของบ้านทราบค่าไฟฟ้าคร่าวๆ ของตัวเอง ล่วงหน้าในแต่ละเดือนได้นั่นเอง 

อัตราค่าไฟคิดอย่างไร

อัตราค่าไฟคิดอย่างไร

การคิดค่าไฟด้วยตัวเอง ควรทำความเข้าใจในเรื่องของอัตราการคิดค่าไฟของที่อยู่อาศัยด้วย โดยปกติจะประกอบไปด้วย อัตราปกติ อัตราตามช่วงเวลาการใช้งาน และอัตราก้าวหน้า ซึ่งรายละเอียดของอัตราค่าไฟในแต่ละแบบมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

อัตราปกติ

ค่าไฟอัตราปกติ เป็น อัตราค่าไฟฟ้าของที่อยู่อาศัย โดยจะวัดจากมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเกณฑ์ค่าบริการจากการใช้ไฟฟ้ามี 2 ประเภท ได้แก่ 

    • ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ 220 โวลท์ 1 เฟส 2 สาย คือ มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย ติดต่อเกิน 3 เดือน จะจัดเข้าประเภท “ติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้าไม่เกิน 5 แอมป์ 220 โวลท์ 1 เฟส 2 สาย” มีอัตราค่าไฟ 
    • ติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ 220 โวลท์ 1 เฟส 2 สาย คือ มีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย ติดต่อเกิน 3 เดือน จะจัดเข้าประเภท “ติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้าเกิน 5 แอมป์ 220 โวลท์ 1 เฟส 2 สาย” มีอัตราค่าไฟ 

สำหรับค่าบริการ หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ค่าบริการ 8.19 บาทต่อเดือน กรณีใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ค่าบริการ 24.62 บาทต่อเดือน

อัตราตามช่วงเวลาการใช้งาน

อัตราตามช่วงเวลาการใช้งาน (Time of Use Tariff: TOU Triff) เป็นการกำหนดอัตราค่าไฟตามช่วงเวลา ซึ่งค่าไฟฟ้าต่อหน่วยในแต่ละช่วงจะแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 

    • On Peak : วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 09.00 – 22.00 น.
    • Off Peak : วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 22.00-09.00 น.                                                                                                                วันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ (ไม่รวมวันหยุดชดเชย) ทั้งวัน

อัตราค่าไฟตามช่วงเวลาการใช้ (Time of Use Tariff: TOU Triff) แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้  

แรงดัน

On Peak

(บาท/หน่วย)

Off Peak

(บาท/หน่วย)

ค่าบริการ 

(บาท/เดือน)

12-24 กิโลโวลต์

5.1135

2.6037

312.24

ต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์

4.2218

2.6369

24.62

อัตราก้าวหน้า

อัตราค่าไฟแบบก้าวหน้า เป็นอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย หมายความว่าค่าไฟจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้งานไฟฟ้าของบ้านที่อยู่อาศัย สำหรับรายละเอียดการคิดค่าไฟตามอัตราก้าวหน้า คือ 

    • 35 หน่วยแรก เหมาจ่าย เป็นจำนวนเงิน 85.21 บาท
    • 115 หน่วยต่อไป หน่วยละ 1.1236 บาท
    • 250 หน่วยต่อไป หน่วยละ 2.1329 บาท 
    • ส่วนที่เกินกว่า 400 หน่วย หน่วยละ 2.4226 บาท
บิลค่าไฟประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

บิลค่าไฟประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

จะเห็นว่าเมื่อได้รับบิลค่าไฟมาในแต่ละเดือนนั้นจะเต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย สำหรับวิธีคิดค่าไฟจากบิลด้วยตนเอง สามารถดูได้จากบิลค่าไฟที่ได้รับในแต่ละเดือน ก่อนอื่นมาดูกันว่าบิลค่าไฟมีส่วนประกอบอะไรบ้าง ดังนี้

ข้อมูลเบื้องต้นทั่วไป

ส่วนแรกของบิลค่าไฟจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นทั่วไปของผู้ใช้ไฟฟ้า ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ รหัสการไฟฟ้า สายจดหน่วย หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า เลขที่ใบแจ้ง รหัสเครื่องวัด User No. ประเภท วัน-เวลาอ่านหน่วย และเดือนที่แจ้งค่าไฟฟ้า เป็นข้อมูลเบื้องต้นของผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อสามารถเช็คได้ว่าข้อมูลถูกต้อง หรือมีการเปลี่ยนแปลงตรงไหนบ้าง

ข้อมูลในการใช้ไฟฟ้า

ส่วนที่สองจะเป็นข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นรายละเอียดการใช้ไฟฟ้าในเดือนปัจจุบัน ประกอบไปด้วย เลขที่อ่านครั้งก่อน-หลัง จำนวนหน่วยที่ใช้ และประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง ซึ่งในส่วนนี้จะสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ โดยเปรียบเทียบตัวเลขได้กับมิเตอร์ไฟฟ้าของแต่ละบ้าน

ค่าไฟฟ้าที่มีการเรียกเก็บ

ในส่วนท้ายจะเป็นส่วนของยอดค่าไฟฟ้าที่มีการเรียกเก็บในเดือนปัจจุบัน ซึ่งจะประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายแยกเป็นประเภท ดังนี้

    • ค่าพลังงานไฟฟ้า คือ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง สายจำหน่าย และค่าการผลิตไฟฟ้า
    • ค่าบริการรายเดือน คือ ค่าใช้จ่ายในการจดหน่วยไฟฟ้า ค่าจัดทำและจัดส่งบิลค่าไฟฟ้า การรับชำระเงินค่าไฟฟ้า และการบริการลูกค้า 
    • ค่า Ft คือ ค่าไฟฟ้าฝันแปร เป็นค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ค่าน้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์ และค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฐาน ซึ่งค่า Ft จะมีการปรับทุก 4 เดือน โดย กกพ. เป็นผู้กำกับดูแล
    • ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % ที่เรียกเก็บตามกฎหมายกำหนด
วิธีอ่านมิเตอร์ด้วยตนเอง

วิธีอ่านมิเตอร์ด้วยตนเอง

นอกจากจะเช็กความถูกต้องของค่าไฟจากบิลที่ได้รับแล้ว เจ้าของบ้านควรจะต้องเช็กที่มิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านเปรียบเทียบกับบิลค่าไฟด้วย เพื่อป้องกันความผิดพลาดโดยเฉพาะในกรณีที่ค่าไฟสูงผิดปกติ

สำหรับวิธีคิดค่าไฟจากมิเตอร์นั้น ให้ลองดูที่หน้าปัดของมิเตอร์ก่อนว่ามีตัวเลขอย่างไร โดยหลักๆ แล้วหน้าปัดมิเตอร์ไฟฟ้าจะมีตัวเลขอยู่ 5 หลักด้วยกันเป็นตัวบอกจำนวนหน่วยที่ใช้ไฟฟ้า แต่ข้อสังเกตสำคัญ คือ จุดทศนิยม กล่าวคือ บางมิเตอร์จะมีตัวเลข 5 ตัวก็จริง แต่ตัวหลังจะเป็นจุดทศนิยม ในกรณีนี้จะอ่านมิเตอร์แค่ 4 ตัวแรกเท่านั้น แต่ในกรณีที่ไม่มีจุดทศนิยม จะอ่านทั้ง 5 ตัว ซึ่งในบางครั้งหากไม่อ่านมิเตอร์อย่างระมัดระวังก็จะเกิดข้อผิดพลาดได้ เช่น การอ่านตัวเลขทั้ง 5 ตัว โดยไม่ได้สังเกตว่ามีจุดทศนิยมด้วย ก็จะทำให้ส่วนต่างของการใช้งานไฟฟ้ามีหน่วยที่ต่างกันมาก ส่งผลต่อค่าไฟที่สูงขึ้นอย่างผิดปกตินั่นเอง

ทุกคนสามารถคำนวณค่าไฟและเช็คความถูกต้องของบิลที่ได้รับในแต่ละเดือนได้ด้วยตัวเอง วิธีคิดค่าไฟเริ่มจากการทำความเข้าใจในเรื่องของอัตราค่าไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน การคำนวณค่าไฟและนำมาตรวจสอบเปรียบเทียบกับบิลค่าไฟและมิเตอร์ไฟฟ้า เพียงเท่านี้เจ้าของบ้านก็สบายใจได้ว่าค่าไฟที่มากหรือน้อยมีที่มาอย่างไร หรือหากค่าไฟมีความผิดปกติก็สามารถแจ้งการไฟฟ้าได้ถูกต้อง

FAQ

ค่า Ft ย่อมาจาก Float time หรือ Fuel Adjustment Charge (at the given time) ค่า Ft คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร เป็นการลอยค่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่างๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ค่า Ft จะเปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งคิดตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ สำหรับค่า Ft จะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล

ประชาชนทุกคนที่ใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่า Ft เพราะ ถือเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นค่า Ft จึงเปลี่ยนแปลงได้ มีการปรับปรุงทุกๆ 4 เดือน ขึ้นอยู่กับต้นทุนในช่วงเวลานั้นๆ ในการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนจะประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายหลายหลายส่วน ได้แก่ ค่าบริการรายเดือน ค่า Ft ค่าภาษี และค่าไฟสุทธิ

ค่า Ft เป็นตัวสะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่มีทั้งขึ้นและลง ในทุกๆ 4 เดือน จะมีการปรับปรุงค่า Ft ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงการคาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงในค่าไฟฟ้าฐาน หากราคาค่าเชื้อเพลิงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประชาชนก็จะจ่ายค่าไฟที่ลดลง แต่หากราคาค่าเชื้อเพลิงสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ค่า Ft จะช่วยลดผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า ช่วยในเรื่องการจัดหาไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต และช่วยในเรื่องความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศด้วย

ค่า Ft จะมีการปรับปรุงทุกๆ 4 เดือน สำหรับในช่วง 4 เดือนรอบปัจจุบัน คือเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ค่า Ft ตามที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 98.27 สตางค์/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งในช่วงทุกๆ 4 เดือน จะมีค่า  Ft ที่แตกต่างกัน เป็นสิ่งที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนควรติดตามและตรวจสอบอยู่เสมอ