fbpx

เตรียมความพร้อมก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน ต้องทำอย่างไรบ้าง?

  • Home
  • เกร็ดความรู้
  • เตรียมความพร้อมก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน

เตรียมความพร้อมก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน ต้องทำอย่างไรบ้าง?

ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นในทุกๆ วัน ทำให้รถยนต์รุ่นทั่วไปไม่ตอบโจทย์สำหรับบางคน อีกทั้งโลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศ ทำให้ผู้คนหันมานิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น แต่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในไทย ปัญหาสถานีจ่ายไฟฟ้าที่มีไม่เพียงพอหรืออยู่ไกลบ้านจึงกลายเป็นปัญหาหลักของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้านั้นสามารถชาร์จแบตเตอรี่ที่บ้านได้ การติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านจึงเป็นทางออกที่ดี หมดปัญหากังวลใจเรื่องสถานีจ่ายไฟฟ้าทันที สำหรับใครที่กำลังใช้ หรืออยากจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า อยากติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านและกำลังหาข้อมูลว่าต้องเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง จึงจะติดตั้งได้ บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้ามาให้คุณแล้ว
ความปลอดภัยของระบบชาร์จไฟฟ้า

มาตรฐานความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า

สำหรับผู้ที่ซื้อรถไฟฟ้าแล้วยังไม่รู้ว่าการเตรียมติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้า ต้องเตรียมอะไรบ้าง ก่อนอื่นเลยต้องมาดูก่อนว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าแบบไหนบ้าง เพื่อให้การติดตั้งที่ชาร์จนั้นเหมาะสมกับตัวบ้านของเราที่สุด

เพิ่มขนาดมิเตอร์

บ้านโดยทั่วไปมักจะมีขนาดมิเตอร์อยู่ที่ Single-Phase 15(45)A หรือ Sigle-Phase 5(15)A จึงต้องมีการปรับปรุงไฟฟ้าภายในบ้าน โดยการเพิ่มขนาดมิเตอร์ให้เป็น Single-Phase 30(100)A หรือ 3-Phase 15(45)A เพื่อให้เพียงพอกับการติดตั้ง EV Charger

ติดตั้งมิเตอร์เฉพาะสำหรับ EV Charger

สำหรับบ้านที่ไม่สะดวกปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในบ้าน สามารถติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าลูกที่สองสำหรับ EV Charger โดยเฉพาะได้ โดยการเดินสายเมนวงจรที่สองจากมิเตอร์ลูกใหม่ไปถึงจุดติดตั้ง EV Charger โดยตรง
ติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน

ติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน ดียังไง

  • เมื่อต้องการชาร์จทันที ก็สามารถชาร์จได้ที่บ้านอย่างสะดวก โดยไม่ต้องไปสถานีจ่ายไฟฟ้า
  • การชาร์จในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน สามารถช่วยให้ประหยัดเงินได้มากกว่าการชาร์จในช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงในแต่ละวันได้
  • สามารถใช้ประโยชน์จากแผงโซลาเซลล์มาใช้เป็นพลังงานสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดค่าไฟได้
  • ช่วยลดความกังวลว่าจะเติมแบตเตอรี่ไม่เต็ม เพราะสามารถชาร์จได้ในระหว่างที่นอนหลับ เมื่อตื่นเช้ามา รถไฟฟ้าก็จะอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน สามารถเดินทางไปยังสถานที่ทุกแห่งที่ต้องการจะไปได้ทันที
  • เพิ่มมูลค่าของตัวบ้านในอนาคตได้ ด้วยการเพิ่มขนาดมิเตอร์ให้เหมาะสำหรับการติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน
วิธีตรวจสอบและเตรียมก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้า

วิธีตรวจสอบและเตรียมพร้อมก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน

เมื่อมีรถไฟฟ้าแล้ว อยากติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน ก็มาดูกันว่าควรตรวจสอบและเตรียมพร้อมตัวบ้านอย่างไร เพื่อให้บ้านเหมาะสมสำหรับการติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน

ตรวจสอบประเภทของหัวปลั๊กรถยนต์

ตรวจสอบประเภทของหัวปลั๊กรถไฟฟ้า เพื่อที่จะได้ติดตั้งที่ชาร์จให้ตรงกับตัวรถ โดยหัวปลั๊กรถไฟฟ้าจะแบ่งออกเป็น 4 แบบ ได้แก่

  1. หัวชาร์จแบบ CCS  Type 1 เป็นรถไฟฟ้าที่นำเข้าจากอเมริกาล็อตแรกๆ
  2. หัวชาร์จแบบ CCS Type 2 เป็นรถไฟฟ้าที่นำเข้าจากยุโรป มาตรฐานของประเทศไทยในปัจจุบันคือแบบนี้ 
  3. หัวชาร์จแบบ (DC) CHAdeMO เป็นรถไฟฟ้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่น
  4. หัวชาร์จแบบ GB/T เป็นรถไฟฟ้าที่นำเข้าจากจีน

ตรวจสอบขนาดของสายไฟหลัก

การตรวจสอบขนาดสายไฟหลักที่เชื่อมมายังตู้ควบคุมก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยขนาดสายไฟหลักจะต้องมีขนาด 25 ตร.มม. ขึ้นไป ซึ่งเป็นมาตรฐานขนาดของสายไฟหลักสำหรับการติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน โดยขนาด 25 ตร.มม. เป็นขนาดของทองแดงที่อยู่ภายใน สามารถวัดขนาดจากหน้าของสายได้

ตรวจสอบขนาดของ On-Board Charger

การตรวจสอบขนาดของ On-Board Charger เป็นการตรวจสอบระบบควบคุมการดึงไฟฟ้าที่ตัวรถไฟฟ้าจะสั่งการไปยังเครื่อง EV Charger ซึ่งขนาดของ On-Board Charger จะส่งผลต่อระยะเวลาในการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ และขนาดจะขึ้นอยู่กับยี่ห้อและรุ่นของรถไฟฟ้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีขนาดอยู่ที่ 3.6 kW ถึง 22 kW

เตรียมช่องว่างสำหรับตู้ควบคุมไฟฟ้า

การมีช่องว่างในตู้ควบคุมไฟฟ้า ก็เพื่อใส่เบรกเกอร์สำหรับการควบคุม EV Charger ที่แยกจากเบรกเกอร์อื่นๆ เพื่อชาร์จรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ ถ้าหากช่องว่างภายในตู้ควบคุมไฟฟ้าไม่มีที่ว่างพอ ให้ติดตั้งตู้ควบคุมไฟฟ้าแยกออกมาต่างหากสำหรับ EV Charger

เตรียมเครื่องตัดไฟรั่ว

มาตรฐานการติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วจะต้องมีพิกัดขนาดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 mA และตัดไฟได้ภายในระยะเวลา 0.04 วินาที ตัวเครื่องตัดไฟรั่วนี้ จะตัดวงจรไฟฟ้าทันที เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านไม่เท่ากันหรือใช้ไฟมากเกินไปหรือเกิดฟ้าผ่า ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิต ถ้าหาก EV Charger มีระบบตัดไฟระดับ RCD Type B หรือเทียบเท่า ก็ไม่จำเป็นที่จะติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วเพิ่ม

เตรียมเต้ารับ

เต้ารับสำหรับที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน จะต่างกับเต้ารับสำหรับเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งเต้ารับสำหรับที่ชาร์จรถไฟฟ้าควรมี 3 รู และต้องมีการติดตั้งสายดิน โดยแยกจากสายดินของระบบไฟเดิมที่อยู่ภายในบ้าน สายต่อหลักดินสำหรับการติดตั้ง EV Charger นั้น ควรเป็นสายที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ตร.มม. และเป็นสายหุ้มฉนวน ส่วนหลักดินตามมาตรฐาน ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5/8 นิ้ว มีความยาวไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร ซึ่งการต่อสายดินกับหลักดินควรเชื่อมต่อด้วยวิธีหลอมละลาย และการต่อสายดินควรได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตผู้ใช้งาน

เลือกจุดติดตั้งที่เหมาะสม

ก่อนจะติดตั้งชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน ควรตรวจสอบตำแหน่งสำหรับการติดตั้งให้เหมาะสมก่อน โดยดูได้ตามวิธีดังนี้

  • จากจุดจอดรถ ไปจนถึงจุดติดตั้งเครื่องชาร์จไม่ควรมีระยะห่างกันเกิน 5 เมตร เพราะความยาวของสายชาร์จโดยทั่วไปจะไม่เกิน 7 เมตร หากติดตั้งเครื่องชาร์จห่างจุดจอดรถเกินไป ทำให้สายไปไม่ถึง ต้องดึงสายชาร์จให้ถึงตัวรถ ซึ่งอาจทำให้สายชาร์จเสื่อมสภาพได้ง่ายขึ้น
  • เลือกตำแหน่งการติดตั้ง EV Charger ควรติดตั้งไม่ไกลจากตู้ควบคุมไฟฟ้าเกินไป สามารถเดินสายไฟไปได้ นอกจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟแล้ว ยังช่วยให้ช่างทำงานได้อย่างสะดวกและประหยัดเวลาได้อีกด้วย
  • แม้ว่า EV Charger จะมีระบบกันน้ำในตัว แต่ก็ควรติดตั้งในตำแหน่งที่มีหลังคาหรือในที่ร่ม เพื่อป้องกันแดด ป้องกันฝน ไม่ควรที่จะโดนแดดหรือโดนฝนแบบนานๆ เพราะจะทำให้เสื่อมสภาพได้ ควรดูแลรักษา EV Charger ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ เพื่อที่จะใช้งานได้อย่างยาวนาน
ประเภทเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มีแบบไหนบ้าง

ประเภทเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มีแบบไหนบ้าง

ประเภทของเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าที่มีอยู่ 3 แบบหลักๆ โดยแบ่งตามคุณสมบัติและการใช้งาน เพื่อให้รู้ว่าแบบไหนที่เหมาะสำหรับการติดตั้งที่บ้านที่สุด

เครื่องชาร์จ Quick Charger

เป็นการชาร์จไฟแบบเร็วด้วยการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) ใช้เวลาการชาร์จ 40-60 นาทีโดยประมาณ เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จหรือต้องเดินทางไกล เพื่อประหยัดเวลา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้าด้วย ซึ่งประเภทหัวชาร์จของ Quick Charger ได้แก่ CHAdeMo, GB/T และ CCS ในปัจจุบันนี้มีบริษัทเอกชนหลายบริษัทลงทุนในธุรกิจนี้ เพื่อขยายตัวเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากไฟฟ้านครหลวง ซึ่งจะพบเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าประเภทนี้ได้ที่สถานีบริการน้ำมัน หรือบริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้า

เครื่องชาร์จ Normal Charger (Wall Box)

เป็นการชาร์จไฟแบบธรรมดาด้วยการจ่ายไฟฟ้าแบบกระแสสลับ (AC Charging) ค่าไฟฟ้าถูก สามารถใช้ชาร์จรถไฟฟ้าได้ทุกรุ่น ใช้งานง่าย ไม่ต้องรอเชื่อมระบบ สามารถชาร์จไว้ข้ามคืนได้โดยไม่ต้องห่วงว่าแบตเตอรี่จะร้อนและเสื่อมสภาพ ใช้เวลาการชาร์จโดยประมาณ 4-9 ชั่วโมง แต่ก็ขึ้นอยู่กับสมรรถนะและความจุของแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้าด้วย โดยจะพบเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าประเภทนี้ติดผนังตามโรงแรมหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ

เครื่องชาร์จ Normal Charger (ต่อเต้ารับโดยตรงจากในบ้าน)

ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าระบบไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่รองรับการติดตั้ง EV Charger หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น การตรวจสอบสะพานไฟและขนาดของสายไฟ รถไฟฟ้าจำเป็นจะต้องใช้กระแสไฟฟ้าสูงเพื่อชาร์จ ไม่สามารถที่จะชาร์จกับเต้ารับแบบธรรมดาได้ จึงควรติดตั้งเต้ารับใหม่สำหรับการชาร์จรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ และขนาดของมิเตอร์ไฟนั้นต้องรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำที่ 15(45)A ด้วย ทั้งนี้ให้ตัวอุปกรณ์ชาร์จนั้นมีระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือชาร์จไฟเต็มแล้ว ซึ่งเครื่องชาร์จนี้ มีระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 12-15 ชั่วโมง
วิธีดูแลรักษาเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

วิธีดูแลรักษาเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

  • ก่อนที่จะทำความสะอาดหรือบำรุงรักษาใดๆ กับ EV Charger ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ปิดตัวเครื่องและถอดปลั๊กแล้ว ขั้นตอนนี้ช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยของผู้ใช้และป้องกันอุบัติเหตุทางไฟฟ้าได้
  • เมื่อถึงเวลาทำความสะอาด ให้เลือกผ้าหรือฟองน้ำเช็ดถู และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่รุนแรงหรือวัสดุที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ที่อาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนหรือทำลายพื้นผิวของเครื่องชาร์จได้
  • ใช้น้ำยาทำความสะอาดผสมกับน้ำ ให้ความเข้มข้นของน้ำยานั้นอ่อนลง เพื่อป้องกันการสะสมของสารตกค้างบนตัวเครื่องชาร์จ
  • ทำความสะอาดบนพื้นผิวด้านนอกของเครื่องชาร์จเท่านั้น โดยค่อยๆ เช็ดสิ่งสกปรก ฝุ่น คราบสะสมออก ระวังอย่าใช้แรงมากเกินไปหรือดันเศษซากสิ่งสกปรกเข้าไปในซอกมุมของตัวชาร์จ
  • หลังจากทำความสะอาดด้วยน้ำยาแล้ว ควรเช็ดเครื่องชาร์จให้แห้งสนิท เพราะความชื้นอาจทำให้ส่วนประกอบทางไฟฟ้าเสียหายได้และตรวจสอบให้แน่ใจว่าแห้งอย่างทั่วถึง แล้วค่อยเสียบปลั๊ก หรือเปิดเครื่องใช้งาน
ข้อควรระวัง หลังติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

ข้อควรระวัง หลังติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

  • อย่าทำความสะอาดที่ตัวเครื่องชาร์จในขณะที่ยังเสียบปลั๊กอยู่ เพราะการทำความสะอาดเครื่องชาร์จโดยมีไฟฟ้าไหลผ่าน มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดไฟฟ้าช็อต เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • เมื่อทำความสะอาดสายชาร์จ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า น้ำไม่เข้าไปในตัวสาย ซึ่งสายชาร์จจะมีฝาปิด ให้ปิดฝาก่อนทำความสะอาด เพื่อป้องกันการแทรกซึมของน้ำ
  • แม้ว่าเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงจะมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดได้ดี แต่ไม่เหมาะสมกับการนำมาทำความสะอาด EV Charger เพราะถ้าฉีดน้ำเข้าไปในอุปกรณ์ไฟฟ้า อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ ให้ใช้วิธีการทำความสะอาดที่อ่อนโยนเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
  • แม้ว่าการทำความสะอาด EV Charger จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การบำรุงรักษาตามปกติก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ให้หมั่นสังเกตการสึกหรอ การเชื่อมต่อที่หลวม หากพบปัญหาหรือความผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับตัวเครื่อง ให้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการรับรอง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทันที
เมื่อมีรถยนต์ไฟฟ้า และอยากจะติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน สำหรับการชาร์จได้อย่างสะดวกนั้น จำเป็นจะต้องรู้มาตรฐานความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า วิธีตรวจสอบและเตรียมพร้อมก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน เพื่อให้การติดตั้งเป็นไปด้วยความปลอดภัย สบายใจและมีเหมาะสมกับบ้าน

Leave A Reply