fbpx

UPS มีกี่แบบ? แตกต่างกันอย่างไร? แล้วแบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา?

  • Home
  • เกร็ดความรู้
  • UPS มีกี่แบบ? แตกต่างกันอย่างไร? แล้วแบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา?
ปกบทความ ups มีกี่แบบ

UPS มีกี่แบบ? แตกต่างกันอย่างไร? แล้วแบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา?

ปัญหากระแสไฟฟ้าหรือสัญญาณรบกวนขณะใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความกังวลให้ผู้ใช้งาน เพราะนอกจากจะเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวและทำให้ข้อมูลงานที่ทำอยู่เสียหายต้องเสียเวลาทำใหม่แล้ว ในบางครั้งยังอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียหายได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการต่อพ่วงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ากับอุปกรณ์ที่เรียกว่า UPS หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อเครื่องสำรองไฟฟ้า ซึ่งเมื่อเชื่อมต่อแล้วจะช่วยให้ยังสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีเกิดปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าและสัญญาณรบกวน แต่ ups มีกี่แบบ และแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร บทความนี้มีข้อมูลดีๆ มาฝากกัน

ups คืออะไร

ทำความรู้จักกับ UPS คืออะไร มีหลักการทำอย่างไร?

คำว่า UPS ย่อมาจากคำว่า Uninterruptible Power Supply แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่าเครื่องสำรองไฟ เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำหน้าที่สำรองไฟและจ่ายไฟให้แก่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อ ทำให้อุปกรณ์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องตามกำลังไฟฟ้าที่แบตเตอรี่ของเครื่องสำรองไฟเก็บสำรองไว้

สำหรับหลักการทำงานของ UPS คือ การแปลงกระแสไฟฟ้าระหว่างไฟฟ้ากระแสสลับหรือ AC และไฟฟ้ากระแสตรงหรือ DC โดยกรณีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถรับพลังงานจากแหล่งพลังงานหลักได้ตามปกติ ซึ่ง UPS ทำหน้าที่ปรับกระแสไฟฟ้าและระดับแรงดันไฟฟ้าให้มีความสม่ำเสมอเหมาะสมกับการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกับแปลงไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรงและนำไปเก็บไว้เป็นกำลังไฟฟ้าสำรองที่แบตเตอรี่ แต่กรณีที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถรับกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหลักได้ตามปกติหรือคุณภาพของกระแสไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ UPS ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรงที่เก็บสำรองไว้ในแบตเตอรี่ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับและจ่ายไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามปกติ

ส่วนประกอบของ ups

ส่วนประกอบของ UPS

ถึงแม้ว่าส่วนประกอบของ UPS เป็นปัจจัยที่ใช้ในการแบ่งว่า UPS มีกี่แบบ แต่อย่างไรก็ตามส่วนประกอบพื้นฐานของ UPS ก็มีทั้งสิ้น 3 ส่วน ได้แก่ เครื่องชาร์จประจุแบตเตอรี่ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า และแบตเตอรี่ โดยแต่ละส่วนมีการทำงานดังต่อไปนี้

    • เครื่องชาร์จประจุแบตเตอรี่หรือ Charger
      เป็นส่วนที่ทำหน้ารับไฟฟ้ากระแสสลับจากแหล่งพลังงานหลัก นำมาแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสตรง เพื่อนำไปเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ หรือเรียกอีกอย่างว่าเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า AC เป็น DC หรือ Rectifier
    • เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าหรือ Inverter
      ทำหน้าที่รับไฟฟ้ากระแสตรงที่แบตเตอรี่เก็บสะสมไว้และแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ เพื่อส่งไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เวลาที่กระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหลักส่งมาไม่สม่ำเสมอ
    • แบตเตอรี่หรือ Battery
      ทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้าสำรองที่ได้จากการแปลงไฟฟ้ากระแสสลับเป็นไฟฟ้ากระแสตรง เมื่อเกิดความผิดปกติของกระแสไฟฟ้า แบตเตอรี่จะจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังเครื่องแปลงไฟฟ้า เพื่อแปลงไฟฟ้ากระแสตรงให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับเพื่อส่งไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกับ UPS
ups มีกี่แบบ

UPS มีกี่แบบ? อะไรบ้าง?

หลายๆ คนอาจมีคำถามว่า เครื่องสำรองไฟฟ้ามีกี่แบบ UPS มีกี่แบบ หรือUPS มีกี่ประเภท ถือเป็นคำถามที่คนอยากมีอุปกรณ์ UPS ไว้ใช้งานควรคำนึงเป็นอย่างแรก เนื่องจาก UPS ที่นิยมใช้เป็นแหล่งสำรองไฟปัจจุบันมีด้วยกันทั้งสิ้น 3 แบบ โดยแต่ละแบบล้วนมีข้อดีข้อเสียและเหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. UPS ชนิด Standard

UPS ชนิด Standard หรือ Standard UPS หรือ Offline UPS คือ UPS ชนิดพื้นฐาน ที่มีกระบวนการทำงานไม่ซับซ้อน ซึ่งส่วนประกอบสำคัญของ UPS แบบนี้ ได้แก่ ตัวสับเปลี่ยน หรือ Transfer Switch ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเปลี่ยนแหล่งจ่ายไฟฟ้าระหว่างแหล่งพลังงานหลักกับเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า โดยในเวลาที่กระแสไฟฟ้ามีความผิดปกติ ตัวสับเปลี่ยนจะสลับแหล่งพลังงานไปใช้ไฟฟ้ากระแสสลับที่มาจากเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าส่งไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ในกรณีที่กระแสไฟฟ้าหลักทำงานได้ปกติหรือผิดปกติในช่วงเวลาสั้นๆ ตัวสับเปลี่ยนจะไม่มีการสลับแหล่งพลังงานและใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหลัก แต่จะมีกระบวนการนำกระแสไฟฟ้าไปกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ด้วย

    • ข้อดี ราคาถูกกว่า UPS แบบอื่น ติดตั้งง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา ทำให้ขนย้ายสะดวก
    • ข้อเสีย ใช้ได้เฉพาะกรณีไฟดับเท่านั้น ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาความผันผวนของกระแสไฟฟ้าแบบอื่นได้ อายุการใช้งานสั้น อีกทั้งยังไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานในพื้นที่ใกล้กับแหล่งผลิตไฟฟ้า เนื่องด้วยมีความผันผวนของกระแสไฟฟ้าสูง อาจทำให้อุปกรณ์เสียหายได้

2. UPS ชนิด Line interactive

UPS ชนิด Line Interactive หรือ UPS Line Interactive คือ เครื่องสำรองไฟที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดข้อเสียของ UPS แบบ Offline UPS ด้วยการเพิ่มเติมส่วนของระบบปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติหรือ Stabilizer โดยเวลาปกติที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับกระแลไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหลัก ระบบปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติ ทำหน้าที่รักษาระดับแรงดันไฟฟ้าและช่วยลดการเกิดไฟกระชากเมื่อมีปัญหาไฟตก แต่ในเวลาไฟดับตัวสับเปลี่ยนภายในอุปกรณ์ UPS จะเลือกแหล่งจ่ายพลังงานจากระบบปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติหรือเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า จึงไม่ต้องดึงพลังงานด้วยการแปลงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่อย่างเดียวในกรณีที่มีปัญหากระแสไฟไม่มาก ทำให้ UPS มีอายุการใช้งานนานขึ้น บวกกับราคาระดับปานกลาง จึงเป็นรุ่นที่ได้ความนิยมมากในปัจจุบัน

    • ข้อดี ราคาปานกลาง ใช้งานได้ทุกพื้นที่ ขนาดเล็กกะทัดรัด ขนย้ายสะดวก อายุการใช้งานยาวนานกว่าแบบ Offline UPS
    • ข้อเสีย ไม่เหมาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความไวต่อคุณภาพกระแสไฟฟ้า ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องความถี่ไฟฟ้าเมื่อเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับแรงดันไฟฟ้าได้

3. UPS ชนิด True Online

UPS ชนิด True Online (Double Conversion) หรือ UPS True Online คือ UPS ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ UPS ทุกแบบ เนื่องด้วยส่วนเครื่องประจุกระแสไฟฟ้าและเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้ามีการทำงานต่อเนื่อง ไม่ว่ากระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหลักเป็นแบบใดก็ตาม ทำให้กระแสไฟฟ้าที่เข้าสู่คอมพิวเตอร์มีความเสถียรสูงและอยู่ในภาวะสมดุลตลอดเวลา

    • ข้อดี สามารถป้องกันความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าได้ทุกกรณี มีหลายขนาดให้เลือก และที่สำคัญเวลาตรวจเช็กการทำงานไม่จำเป็นต้องปิดอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ จึงเหมาะสำหรับใช้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือการใช้งานคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน
    • ข้อเสีย ราคาสูง ระบบซับซ้อน ติดตั้งค่อนข้างยาก ขนาดใหญ่น้ำหนักมาก ทำให้ยากต่อการขนย้าย
ความสำคัญของ ups

ความสำคัญของ UPS ทำไมถึงควรมี

หากมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ แต่ยังรู้สึกลังเลว่าควรเสียเงินซื้อ UPS มาใช้งานดีหรือไม่ เพราะบ้างคนมองว่านานๆ ครั้งจะเกิดปัญหากระแสไฟดับไฟตก รวมทั้งปัจจุบันโปรแกรมส่วนใหญ่มีระบบกู้คืนไฟล์อัตโนมัติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะไม่กังวลและคิดว่าการสำรองไฟไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่ในความจริงแล้วปัญหากระแสไฟ สัญญาณรบกวน และแรงดันไฟไม่สม่ำเสมอ ไม่ได้ส่งผลเสียแต่กับข้อมูลที่กำลังทำอยู่เท่านั้น แต่ยังอาจเป็นอันตรายต่อส่วนต่างๆ ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์ด้วย

กรณีไฟดับ

เมื่อคอมพิวเตอร์สูญเสียพลังงานไฟฟ้ากะทันหันและปิดระบบอย่างไม่ถูกต้องตามขั้นตอน อาจทำให้ไฟล์งานที่กำลังดำเนินงานอยู่เกิดความเสียหายแล้ว ถ้าเกิดปัญหาไฟดับบ่อย ทำให้ฮาร์ดไดรฟ์มีอายุการใช้งานสั้นลง และ Solid-State Drives หรือ SSD เสียหาย นอกจากนั้นในกรณีเกิดปัญหาไฟกระชากหลังไฟดับตามมาภายหลัง ส่วนพาวเวอร์ซัพพลายหรือเมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์อาจเกิดปัญหาช็อต ทำให้คอมพิวเตอร์เปิดไม่ติดด้วย

กรณีไฟตก ไฟเกิน และไฟกระชาก

ปัญหาไฟตก ไฟเกิน และไฟกระชาก ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากการไม่เสถียรของกำลังไฟ ซึ่งปัญหาไฟตกเกิดจากแรงดันไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่ำกว่า 220V ปัญหาไฟเกินหรือแรงไฟฟ้าที่ส่งไปยังอุปกรณ์มากกว่า 220V ในช่วงเวลาสั้นๆ และขณะที่ปัญหาไฟกระชากเกิดจากกำลังไฟเกินบ้าง ตกบ้าง แต่ไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใดก็ส่งผลให้เกิดปัญหาไฟติดๆ ดับๆ ตามมา ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยจะอันตรายต่อส่วนของเมนบอร์ด ซึ่งทำหน้าที่ทางผ่านกำลังไฟไปเลี้ยงส่วนประกอบต่างๆ ภายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

กรณีเกิดสัญญาณรบกวน

สัญญาณรบกวนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า คลื่นวิทยุ การเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็ก ไฟกระชาก หรือเกิดขึ้นจากฟ้าผ่า ซึ่งสัญญาณรบกวนจะมีผลต่อกระแสไฟฟ้าและรบกวนระบบการทำงาน โปรแกรม และไฟล์งานที่บันทึกไว้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ ups

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ UPS

สำหรับคนที่กำลังวางแผนซื้อ UPS สักเครื่องมาใช้งาน ในขั้นแรกนอกจากต้องรู้ก่อนว่า UPS มีกี่แบบ แล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อ เทคนิคการใช้เครื่องสำรองไฟ การดูแลรักษา และข้อควรระวังในการใช้งาน ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจมาแนะนำ

การเลือกซื้อ UPS

วิธีการเลือกซื้ออุปกรณ์ UPS อันดับแรกควรเลือกซื้ออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานจากหน่วยงานต่างๆ อย่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (มอก.) หรือสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (ISO) จากนั้นให้พิจารณาจากคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

    • เลือกรุ่น UPS ที่มีกำลังไฟสูงกว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่นำมาต่อพ่วงประมาณ 20% สำหรับการตรวจสอบค่ากำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากฉลากของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีหน่วยตัวเลขเป็น Watt หรือ VA
    • เลือก UPS ที่ใช้แบตเตอรี่ชนิด High-Rate เนื่องจากสามารถสำรองกระแสไฟฟ้าได้นานกว่าปกติประมาณ 20% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้พลังงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาต่อพ่วงด้วย
    • เลือก UPS ที่เหมาะกับพื้นที่ที่นำไปใช้งาน หากเป็นพื้นที่ที่มีความแปรปรวนของกระแสไฟฟ้าสูง ควรเลือกแบบ True Online ที่ถึงแม้ว่าจะมีราคาแพงกว่า แต่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องกระแสไฟได้ทุกกรณี แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีความแปรปรวนของกระแสไฟฟ้าน้อยสามารถเลือกใช้แบบ Line Interactive หรือ Offline UPS ได้ตามความเหมาสม

วิธีการใช้งาน

โดยทั่วไปแล้วการติดตีั้ง UPS กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ซึ่งขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

    • ขั้นแรกควรตรวจสอบสายไฟของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาต่อกับ UPS ทุกชิ้นว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์และที่สำคัญกำลังไฟรวมทั้งหมดต้องไม่เกินกำลังไฟฟ้าของ UPS ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรตามมาภายหลัง
    • หลังจากตรวจสอบแล้วให้เชื่อมต่อสายไฟของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ากับช่อง OUTPUT ของ UPS โดยยังไม่ต้องเปิดเครื่อง UPS
    • นำปลั๊กของ UPS เสียบกับเต้ารับที่มีสายดิน จากนั้นจึงเปิดเครื่อง เมื่อเครื่องทำงานแล้วจึงค่อยเปิดสวิตซ์ของาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการใช้งานครั้งแรกแนะนำว่าควรชาร์ตประจุไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 5 ชั่วโมง เพื่อให้ UPS เก็บพลังงานอย่างเต็มที่ ส่วนการปิดเครื่องควรปิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อน แล้วค่อยปิดสวิตซ์ของ UPS โดยไม่ต้องถอดปลั๊ก เพราะหากไม่ได้ถอดสายพ่วงออก อิเล็กทรอนิกส์ แบตตอรี่ของ UPS จะยังคงจ่ายกระแสไฟฟ้าต่อเนื่อง อาจทำให้แบตเตอรี่ขาดกระแสไฟฟ้าและเกิดความเสียหายได้

วิธีการดูแลรักษา UPS

การดูแลรักษาอุปกรณ์ UPS ในเบื้องต้นควรวางอุปกรณ์ UPS ไว้ในจุดที่อากาศถ่ายเทและทำความสะอาดด้วยผ้าแห้งหรือแปรงขนนุ่มอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ส่วนด้านในของ UPS แนะนำให้ทำความสะอาดทุก 6 เดือน เพื่อลดการสะสมของฝุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความร้อนสะสมในตัวเครื่อง เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ UPS ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานนานขึ้น

ข้อควรระวังในการใช้งาน

เครื่องสำรองไฟหรือ UPS เองถือเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงมีข้อควรระวังไม่ต่างจากอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป ซึ่งข้อควรระวังในการใช้งาน UPS ที่สำคัญ ได้แก่

    • ไม่ควรดัดแปลง UPS หรือใช้งานเกินกำลังอย่างเด็ดขาด
    • ไม่ควรวาง UPS ไว้ในจุดที่อุณหภูมิเกิน 25 องศาเซสเซียส ใกล้แสงแดด หรือจุดที่มีความร้อนสูง
    • ควรทำตามลำดับการเปิดเครื่องหรือปิดเครื่อง เพื่อลดปัญหาแรงดันไฟฟ้าที่อาจทำให้ UPS ทำงานผิดปกติได้
    • ควรหมั่นสังเกตสถานะบนหน้าจอของ UPS โดยถ้าขึ้นไฟสีฟ้าแสดงว่า UPS ทำงานปกติ แต่ถ้าขึ้นสีส้มแสดงว่าเครื่องกำลังทำงานผิดปกติ นอกจากนั้นยังมีการแสดงข้อความบนหน้าจอด้วย เช่น ตัวอักษร LINE แสดงว่าเครื่อง UPS ทำงานปกติไม่มีการดึงไฟสำรองมาใช้ ตัวอักษร bATT แสดงว่า UPS กำลังนำกระแสไฟจากแบตเตอรี่มาใช้ ตัวอักษร BYPA แสดงว่า UPS กำลังเกิดปัญหาภายใน แต่มีการจ่ายกำลังไฟไปยังอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่ ตัวอักษร OVLd หน้าจอเป็นสีส้ม แสดงว่ามีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากเกินกว่าที่ UPS กำหนด และถ้า หน้าจอแสดงเครื่องหมายตกใจในสามเหลี่ยม แสดงว่า UPS มีความผิดปกติ

จากข้อมูลจะเห็นว่า UPS หรือเครื่องสำรองไฟนั้นเป็นอุปกรณที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยลดความเสียหายให้กับส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย แต่ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจซื้อ UPS มาใช้งานควรศึกษาก่อนว่า UPS มีกี่แบบ เพราะแต่ละแบบมีคุณสมบัติแตกต่างกัน อย่างแบบ Offline UPS คือ เครื่องสำรองไฟที่ราคาถูก แต่ก็จ่ายกระแสไฟฟ้าสำรองได้เฉพาะกรณีเกิดปัญหาไฟดับและไม่เหมาะกับพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตไฟฟ้า แบบ UPS Line Interactive คือแบบที่นิยมใช้มากที่สุด ราคาปานกลาง แก้ปัญหากระแสไฟได้หลายกรณี แต่ไม่เหมาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไวต่อการแปรปรวนของระดับแรงดันไฟฟ้า และแบบ UPS True Online คือ UPS ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถแก้ปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าได้ทุกกรณี แต่มีราคาสูง ดังนั้นก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกแบบไหนมาใช้งานควรพิจารณาจากกำลังไฟ การใช้งาน และพื้นที่ใช้งาน