UPS กับ Stabilizer แตกต่างตรงไหน? เลือกใช้ยังไง?
เคยเป็นไหม? เวลาที่ไฟฟ้าขัดข้องแล้วเกิดไฟดับ ไฟตก หรือไฟกระชาก ไม่ว่าจะมาจากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติหรือจากเหตุการณ์อื่นๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้มันอาจจะส่งผลให้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์นั้นเกิดอันตรายได้ จึงต้องมีอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเกิดความเสียหาย นั่นก็คือ UPS กับ Stabilizer แล้ว UPS กับ Stabilizer แตกต่างกันยังไง?
UPS คือ เครื่องสำรองไฟฟ้า และปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติ ส่วน Stabilizer คือ เครื่องควบคุมแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติซึ่งทั้งสองตัวมีหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเกิดความเสียหาย และช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เนื่องด้วยจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไฟกระชาก ไฟดับ ไฟเกิน เป็นต้น แม้ว่า UPS กับ Stabilizer จะมีหน้าที่ และวิธีการคล้ายๆ กัน แต่เมื่อลงลึกเข้าไปแล้ว หลักการทำงานนั้นก็ต่างกัน และยังมีส่วนที่ต่างกันมาก ซึ่งในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ มาฝาก จะมีเนื้อหาอย่างไรบ้างนั้น มีดังนี้
UPS คืออะไร
UPS คืออะไร? UPS ย่อมาจาก Uninterruptible Power Supply หมายถึง เครื่องสำรองไฟฟ้า และปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือถ้าแปลตรงตัวจะแปลว่า แหล่งจ่ายพลังงานต่อเนื่อง ซึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้อุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดไฟดับหรือเกิดปัญหาแรงดันไฟฟ้าผิดปกติก็สามารถจ่ายไฟได้ UPS จะปรับระดับแรงดันไฟฟ้าให้คงที่อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ โดย UPS จะมีหน้าที่หลักๆ คือ
- ช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของพลังงานไฟฟ้า เช่น ไฟตก ไฟดับ ไฟกระชาก เป็นต้น
- ช่วยในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองจากแบตเตอรี่ให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เมื่อพลังงานไฟฟ้าเกิดขัดข้อง
หลักการทำงานของ UPS
หลักการทำงานของ UPS จะเริ่มจากแปลงไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) แล้วเก็บสำรองไว้ในแบตเตอรี่ส่วนหนึ่ง กรณีที่เกิดปัญหาทางไฟฟ้า เช่น ไฟดับ อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าที่รับมาได้ UPS ก็จะเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงจากแบตเตอรี่ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ หลังจากนั้นก็จะนำจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้อุปกรณ์ไฟฟ้าให้ใช้ได้ตามปกติ และไม่ว่าคุณภาพไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร ก็สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้ปกติ รวมถึงจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ให้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้อีกด้วย
UPS กับเครื่องใช้ไฟฟ้า
UPS เป็นสิ่งสำคัญที่มีส่วนช่วยเพื่อสำรองพลังงานไฟฟ้าสำหรับจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคอมพิวเตอร์ ในเวลาที่ไฟฟ้าเกิดขัดข้องขึ้นมา UPS จะช่วยให้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่เกิดอันตราย และมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์มากมายที่สามารถนำ UPS ไปใช้งานได้ เช่น
- คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เอาไว้เชื่อมต่อ เช่น เครื่องพิมพ์ ลำโพง จอ โมเด็ม เป็นต้น
- ระบบสื่อสารภายในโรงงานอุตสาหกรรม ระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องจักร
- อุปกรณ์สื่อสาร หรือห้องควบคุมระบบโทรคมนาคมต่างๆ
- ระบบประมวลผลข้อมูล และรายงานข้อมูลของธนาคารและตลาดหุ้น
- อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด เช่น โทรทัศน์ เครื่องเสียง ตู้เย็น แอร์ และพัดลม เป็นต้น
ซึ่งอุปกรณ์ที่นำมาใช้กับ UPS จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับความสามารถในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าของ UPS
ประโยชน์ของ UPS
ประโยชน์ของ UPS ที่ใครหลายๆ คนยังไม่รู้ดังต่อไปนี้
- ป้องกันอันตรายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เวลากระแสไฟฟ้าเกิดความผิดปกติขึ้น
- ช่วยจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองให้อุปกรณ์ไฟฟ้า กรณีที่เกิดไฟดับ เพื่อไม่ทำให้ floppy disk และ hard disk เสียหาย และมีไว้เผื่อในตอน save ข้อมูล
- ช่วยปรับแรงดันไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า เมื่อเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้องต่างๆ เช่น ไฟดับ ไฟกระชาก ไฟเกิน เป็นต้น
- ป้องกันสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าที่อาจสร้างความเสียหายต่อข้อมูล และอุปกรณ์ไฟฟ้าได้
- ช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องมือใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เชื่อมต่ออื่นๆ
Stabilizer คืออะไร
Stabilizer คืออะไร? Stabilizer หรือ Automatic Voltage Regulator หรือย่อได้ว่า AVR หมายถึง เครื่องควบคุมแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติหรือบางครั้งอาจเรียกว่า Automatic Voltage Stabilizer (AVS)
ซึ่งโดยปกติแล้วจะเรียกสั้นๆ ว่า AVR หรือ Stabilizer เป็นเครื่องควบคุมแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าของแหล่งจ่ายไฟให้คงที่ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในโหลดหรือแรงดันไฟฟ้าขาเข้า ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาทางไฟฟ้าต่างๆ เช่น ไฟตก ไฟเกิน ซึ่งจะช่วยป้องกันโหลด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ให้เกิดความเสียหาย และจะช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ทีวี เครื่องเสียง เครื่องมือทางการแพทย์ และอีกมากมาย โดย Stabilizer จะมีหน้าที่หลักๆ คือ
- ปรับแรงดันจากการเกิดไฟตก ไฟเกิน ไฟกระชาก ที่เข้ามา 184-284 V โดยอัตโนมัติ ปรับให้มีแรงดันคงที่ ที่ 220 V เป็นระดับที่พอเหมาะกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตัวอุปกรณ์
- ช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และยังช่วยปรับคุณภาพไฟฟ้าให้ดีขึ้น โดยการกรองและกันสัญญาณรบกวนต่างๆ ออก
- ช่วยปรับแรงเคลื่อนเหนี่ยวนำของไฟฟ้าให้สมดุลระหว่างหล้อแปลงไฟฟ้ากับผู้ใช้ ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ดี ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟได้ถึง 5% โดยประมาณ
- ดูดซับฮาร์โมนิคในกระแสไฟฟ้าได้ และยังช่วยปรับลดกระแสไฟฟ้าสูญเสียในช่วงเปิดสวิตซ์อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
โดยทั่วไปแล้วตัวควบคุมแรงดันไฟฟ้าจะมีอยู่ 3 ขั้ว คือ หนึ่งสำหรับแรงดันไฟฟ้าขาเข้า สองสำหรับแรงดันขาออก และสามสำหรับกราวด์ ซึ่งโดยปกติแล้วแรงดันไฟฟ้าขาเข้ามักจะสูงกว่าขาออก ดังนั้นตัวควบคุมจะลดกระแสที่ไหลผ่านอุปกรณ์ในบางกรณีแรงดันไฟขาเข้าต่ำกว่าแรงดันไฟขาออก กรณีนี้ตัวควบคุมจะเพิ่มกระแสไฟที่ไหลผ่านอุปกรณ์
หลักการทำงานของ Stabilizer
Stabilizer ทำหน้าที่รักษาแรงดันไฟฟ้าของแหล่งจ่ายไฟให้คงที่ ซึ่งทำได้โดยการแปลงแรงดันไฟส่วนเกินเป็นความร้อน ซึ่งจะกระจายไฟโดยระบบทำความเย็น
Stabilizer ควบคุมการทำงานด้วยไมโครโปรเซสเซอร์ เพื่อแต่งสัญญาณคลื่นซายน์ (Sine wave) ให้คงที่ นั่นจะหมายถึงแรงดันไฟฟ้าคงที่ โดยจะรวมระบบปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติเข้าไว้ ปรับสภาพแรงดันไฟฟ้าที่ผิดปกติให้คงที่ ด้วยการเปลี่ยนแปรงระดับแรงดันไฟฟ้าขาเข้าให้สูงขึ้น หรือต่ำกว่าระดับที่เครื่องควบคุมได้
ส่วนที่ป้องกันแรงดันไฟฟ้าเกินหรือไฟตก ระบบจะทำการตัดไฟจากแหล่งจ่ายไฟ เมื่อแรงดันรวมสูงเกิน แล้วจะกลับมาทำงานใหม่โดยอัตโนมัติอีกครั้งเมื่อแรงดันไฟฟ้าขาเข้าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยแล้ว
Stabilizer เป็นคุณลักษณะโครงสร้างเชิงเส้นแบบอินเตอร์แอคทีฟ ด้วยเทคโนโลยี Automatic Voltage Regulation แทนการใช้แบตเตอรี่ และในช่วงระหว่างแรงดันไฟฟ้าขาเข้าสูงหรือต่ำ เครื่องจะเพิ่มแรงดันไฟฟ้าขึ้น เมื่อลดแรงดันลงให้อยู่ในการทำงานปกติ เป็นการกำหนดแรงดันไฟฟ้าขาเข้าผ่านหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นแรงดันไฟฟ้าภายในอัตโนมัติ โดยไม่ต้องตัดไปใช้แรงดันไฟจากแบตเตอรี่
Stabilizer มักใช้ 1 ใน 2 เทคนิคในการควบคุมแรงดันไฟฟ้า คือ การควบคุมเชิงเส้นหรือการควบคุมการสลับ
- การควบคุมเชิงเส้น ทำงานโดยการปรับความต้านทานในวงจรอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าให้คงที่
- การควบคุมการสลับ ทำงานโดยการเปิดและปิดเครื่องอย่างรวดเร็ว เพื่อให้กระแสไฟฟ้าเพียงชั่วครู่เท่านั้นที่จะไปถึงตัวโหลด
Stabilizer กับเครื่องใช้ไฟฟ้า
เมื่อไฟฟ้าเกิดขัดข้องขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ไฟกระชาก ไฟตก ซึ่งอาจเกิดจากปรากฎการณ์ธรรมชาติอย่างเช่น ฟ้าผ่า นำมาซึ่งความเสียหายอย่างมาก จะทำให้เกิดปัญหาในการจ่ายไฟต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟ้ฟ้าตามมาได้ ถ้าไม่มีอุปกรณ์เอาไว้ป้องกัน เครื่องใช้ไฟฟ้านั่นก็อาจจะใช้ได้ไม่นาน โดยอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิล็กทรอนิคส์ที่สามารถนำ Stabilizer ไปใช้งานได้ เช่น
- อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป เช่น หลอดไฟ แอร์ พัดลม ตู้เย็น ทีวี เครื่องเสียง
- เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ระบบมอเตอร์ เช่น ปั๊มน้ำ
- อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์
- เครื่องจักรต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม
- เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์
- Wifi Router
- อุปกรณ์สำนักงานที่มีความไวต่อคุณภาพไฟฟ้า
- อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับวงจรอิเล็กทรอนิคส์ และลิฟต์
ประโยชน์ของ Stabilizer
- ช่วยปกป้องวงจรจากความเสียหายที่เกิดจากแรงดันไฟฟ้าที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป
- ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของวงจรโดยจะตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการจ่ายพลังงานในปริมาณที่เหมาะสมถูกต้องให้กับแต่ละส่วน
- ช่วยยืดอายุการใช้งานของวงจร ยืดอายุอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยป้องกันไม่ให้กระแสไฟไหลผ่านมากเกินไปเนื่องจากตัวควบคุมจำกัดปริมาณกระแสไฟที่ไหลผ่านส่วนประกอบภายในได้ ซึ่งช่วยป้องกันความร้อนสูงเกินไปและป้องกันความเสียหายที่ตามมา
- ช่วยป้องกันสัญญาณรบกวน (EMI/RFI) และปัญหาที่มาจากระบบสายส่งการไฟฟ้าไม่เสถียร
ความแตกต่างระหว่าง UPS กับ Stabilizer
UPS กับ Stabilizer เป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่ และวิธีการใช้งานที่คล้ายๆ กัน แต่หน้าที่และวัตถุประสงค์ในการใช้งานนั้นยังมีข้อที่แตกต่างกันอยู่ แล้ว UPS กับ Stabilizer ต่างกันอย่างไร ดังนี้
- ในกรณีที่ไฟฟ้าเกิดขัดข้องขึ้นมา เกิดไฟดับหรือแรงดันตก หรือไปเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้ UPS จะสามารถสำรองไฟได้ เพราะมีแบตเตอสำรอง โดยจะเปลี่ยนไฟฟ้าจากกระแสตรงให้เป็นกระแสสลับ ซึ่งจะทำให้ยืดการใช้ไฟฟ้าของอุปกรณ์ได้ต่ออีกระยะนึง แต่ Stabilizer จะปรับแรงดันไฟฟ้าได้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถสำรองไฟได้ เพราะไม่มีแบตเตอรี่ในตัว ซึ่งหากความดันในอุปกรณ์ต่ำ Stabilizer จะเพิ่มความดันไฟฟ้า และถ้าความดันสูงเกินไป Stabilizer จะลดความดันไฟฟ้าลงมา หากไม่มีเครื่องป้องกันความไม่สมดุลของกระแสไฟฟ้าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าได้
- UPS มีค่าความละเอียดในการปรับแรงดันน้อยกว่า Stabilizer เพราะงั้น Stabilizer มีหน้าที่ปรับแรงดันได้ดีกว่า
- UPS ราคาถูก ในการปรับโหมดจะใช้รูปแบบ Relay แต่ใน Stabilizer บางยี่ห้อจะใช้การปรับโหมดแบบ Static วึ่งจะปรับโหมดได้ไวกว่า
- ระบบกันไฟกระชากของ Stabilizer จะมีหม้อแปลงที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่า UPS ที่ระบบกันไฟกระชากจะมีขนาดเล็ก
- Stabilizer จ่ายไฟแบบ Pure Sine Wave ส่วน UPS กรณีไฟดับจะจ่ายไฟแบบ Simulated Sine Wave
- Stabilizer มีน้ำหนักน้อยกว่า UPS
- UPS จะเหมาะกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการความเสถียรภาพสูงในการใช้งาน แบบที่ไฟดับก็ยังสามารถใช้งานต่อได้ตามปกติ โดยจะมีเวลามากพอที่จะบันทึกข้อมูลได้ทัน เช่น คอมพิวเตอร์ ส่วน Stabilizer จะเหมาะกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นอิเล็กทรอนิคส์ที่ราคาแพงๆ เช่น Smart TV
ใครๆ ก็อยากให้อุปกรณ์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ใช้ได้นานๆ จึงต้องมีอุปกรณ์เสริมอย่าง UPS กับ Stabilizer โดย UPS คือเครื่องสำรองไฟ และปรับแรงดันไฟฟ้า ซึ่งหากมีเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้องแล้วเกิดไฟดับ ตัว UPS จะนำไฟสำรองที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่มาใช้ก่อนได้ ส่วน Stabilizer คือ เครื่องควบคุมแรงดันไฟฟ้า โดย Stabilizer จะช่วยคอยคุมให้แรงดันไฟฟ้าในอุปกรณ์ไฟฟ้าให้คงที่ ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย ไม่มากเกินไป หรือน้อยจนเกินไป
แล้ว UPS กับ Stabilizer ใช้ต่างกันยังไงบ้าง แล้วจริงๆ เราควรเลือกใช้แบบไหนตามคุณลักษณะแล้ว Stabilizer จะตอบโจทย์กับอุปกรณ์ที่กินไฟสูงๆ ที่ไม่จำเป็นต้องสำรองไฟ เช่น เครื่องเสียง โฮมเธียเตอร์ เพราะ UPS ที่ให้กำลังไฟสูงเพื่อรองรับอุปกรณ์เหล่านี้จะมีราคาที่สูงมาก แต่หากคุณทำงานด้านที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์แล้วมีข้อมูลสำคัญจำนวนมาก UPS ก็จะช่วยคุณให้ปลอดภัยหากเกิดไฟดับ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการใช้งาน