แบตเตอรี่ UPS คืออะไร มีกี่แบบ แต่ละแบบมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง
หากพูดถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือชิ้นส่วนของคอมพิวเตอร์ หลายคนอาจนึกถึงแรม หรือ CPU และมองข้ามส่วนสำคัญอย่างแบตเตอรี่ UPS ไป ซึ่ง UPS มีส่วนช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมพิวเตอร์ใช้งานได้อย่างสะดวก และปลอดภัยมากขึ้น บทความนี้ จึงอยากพาไปทำความรู้จักว่าแบตเตอรี่ UPS คืออะไร มีกี่แบบ แต่ละแบบมีลักษณะอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
ทำความรู้จัก แบตเตอรี่ UPS คืออะไร
แบตเตอรี่ UPS คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเครื่องสำรองไฟฟ้า ซึ่ง UPS ย่อมาจากคำว่า Uninterruptible Power Supply โดยหน้าที่หลักของ แบตเตอรี่ UPS จะทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานให้เครื่องสำรองไฟฟ้า เพื่อให้เครื่องสำรองไฟฟ้า แจกจ่ายพลังงานไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในกรณีที่เกิดความผิดปกติ เกี่ยวกับกระแสไฟฟ้า เช่น ไฟดับ ไฟตก ไฟกระชาก โดย UPS จะสำรองไฟเก็บเอาไว้ เพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือโน๊ตบุ๊ค เพื่อป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์จากเหตุการณ์ผิดปกติเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้า และช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้งานต่อไปได้อย่างปลอดภัย
ส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ UPS
สำหรับส่วนประกอบที่สำคัญของแบตเตอรี่ UPS มีด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1) เครื่องประจุแบตเตอรี่ (Charger) 2) แบตเตอรี่ (Battery) และ 3) เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) ซึ่งส่วนประกอบหลักเหล่านี้ มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- เครื่องประจุแบตเตอรี่ (Charger) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า AC เป็น DC (Rectifier) ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) จากระบบจ่ายไฟ แปลงเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) และประจุไว้ในแบตเตอรี่ UPS
- แบตเตอรี่ (Battery) ในที่นี้ หมายถึง แบตเตอรี่ UPS ทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้า จากไฟฟ้ากระแสตรง (DC) มาเก็บไว้ และหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ เช่น ไฟดับ ไฟกระชาก ไฟตก แบตเตอรี่ UPS ก็จะทำหน้าที่จ่ายพลังงานไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่ เพื่อให้ยังใช้งานต่อไปได้
- เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) จากเครื่องประจุแบตเตอรี่ หรือแบตเตอรี่ UPS เพื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) สำหรับใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ประเภทของแบตเตอรี่ UPS
สำหรับประเภทของแบตเตอรี่ UPS มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ซึ่งในแต่ละแบบก็มีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา คุณภาพการใช้งาน ความเหมาะสมในการใช้งาน การดูแลรักษา รวมถึงข้อดี และข้อเสีย ดังนี้
แบตเตอรี่ Lead-Acid
Lead-Acid Battery หรือ SLA คือ แบตเตอรี่ UPS แบบตะกั่วกรด และเป็นแบตเตอรี่ UPS แบบดั้งเดิมที่นิยมใช้กันมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือในการใช้งาน และเป็นแบตเตอรี่ที่คุ้มค่าสำหรับการใช้งาน นอกจากนิยมใช้กับเครื่องสำรองไฟฟ้า หรือ UPS แล้ว Lead-Acid Battery ก็ยังนิยมใช้กับยานพาหนะด้วย เช่น รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งการใช้งาน ขึ้นอยู่กับลักษณะของแบตเตอรี่ที่ต้องการใช้งานอีกเช่นกัน และประเภทแบตเตอรี่ของ Lead Acid ยังแบ่งได้ 2 ชนิด ดังนี้
1. แบตเตอรี่ Valve-regulated lead-acid (VRLA)
แบตเตอรี่ Valve-regulated lead-acid (VRLA) หรือ ที่มักเรียกกันว่า Sealed Lead-Acid (SLA) เป็นอีกหนึ่งแบตเตอรี่ ที่นิยมใช้อย่างมากในปัจจุบัน ลักษณะเฉพาะของแบตเตอรี่ชนิดนี้ คือ เป็นแบตเตอรี่แห้ง มีการปิดผนึกแบตเตอรี่ด้วยพลาสติกโพลีโพรพิลีน (Polypropylene) เพื่อช่วยป้องกัน การรั่วไหลของกรดในแบตเตอรี่ อีกทั้งยังมีวาล์วคอยระบายแรงดันแก๊สภายในแบตเตอรี่ กรณีแรงดันในแบตเตอรี่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ แบตเตอรี่ Valve-regulated lead-acid (VRLA) ยังมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ประมาณ 5 – 10 ปี เป็นแบตเตอรี่ ที่ดูแลรักษาง่าย เนื่องจาก สามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ เหมาะสำหรับการใช้งานในอุณหภูมิห้อง ประมาณ 20-25 °C และที่สำคัญ แบตเตอรี่สามารถวางได้ทั้งแนวตั้ง และแนวนอน ซึ่งสามารถใส่ในช่องแบตเตอรี่ ถาดรองอุปกรณ์ตู้แร็ค หรือใส่ในตู้ได้
2. แบตเตอรี่ Vented lead-acid (VLA)
แบตเตอรี่ Vented lead-acid (VLA) เป็นแบตเตอรี่ที่มีความน่าเชื่อถือสูงไม่แพ้กัน แบตเตอรี่ VLA นิยมใช้กับอุปกรณ์ที่ต้องการค่า แอมป์ (Ah) สูง ลักษณะของแบตเตอรี่ชนิดนี้ มักเรียกกันว่า Flooded Batteries (แบตเตอรี่น้ำท่วม) เนื่องจาก ในแบตเตอรี่ มีแผ่นที่ท่วมด้วยกรดอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte Acid) จึงถูกเรียกว่าเป็น แบตเตอรี่น้ำท่วมนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ยาวนานถึง 20 ปี จึงทำให้การใช้งานของแบตเตอรี่ VLA ใช้งานได้นานกว่า แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้งาน ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และการดูแลรักษาเป็นหลัก เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกรด โดยจำเป็นต้องแยกแบตเตอรี่ให้อยู่ในห้องที่ไม่มีอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ เพื่อป้องกันการรั่วไหล และต้องวางแบตเตอรี่ในแนวตั้งเสมอ
- ข้อดีของแบตเตอรี่ Lead-Acid เป็นแบตเตอรี่ UPS แบบดั้งเดิม และนิยมใช้กันเป็นอย่างมาก มีความน่าเชื่อถือ ช่วยประหยัดต้นทุนในการใช้งาน เพราะแบตเตอรี่มีราคาถูก มีความทนทานสูง ภายในมีสารเคมีที่กำจัดได้ง่าย จึงทำให้ปลอดภัยในการใช้งาน
- ข้อเสียของแบตเตอรี่ Lead-Acid เนื่องจาก แบตเตอรี่มีขนาดใหญ่ และน้ำหนักเยอะ อาจทำให้ต้องคอยดูแล รวมถึงมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า แบตเตอรี่ UPS ประเภทอื่นๆ และเวลาชาร์จไฟ ใช้เวลาประมาณ 5-10 ชั่วโมง
แบตเตอรี่ Nickel-Cadmium
แบตเตอรี่ นิกเกิลแคดเมียม (Nickel-Cadmium) เรียกสั้นๆ ว่า NiCad เป็นแบตเตอรี่ UPS ที่รองรับการใช้งาน ในอุณหภูมิแวดล้อมตั้งแต่ -20°C จนถึง +40°C เลยทีเดียว จึงทำให้แบตเตอรี่ UPS นี้ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกยอดนิยมที่เกี่ยวกับการติดตั้งโทรคมนาคมเช่นกัน โดยแบตเตอรี่ NiCad มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 20 ปี และมีความทนทานต่อการคายประจุลึกมาก แต่ในแง่ของการใช้งานจริง ก็ยังมีข้อจำกัดด้านความปลอดภัย เนื่องจากแบตเตอรี่ UPS มีวัสดุที่เป็นพิษ จึงทำให้มีความเข้มงวดในการผลิต และการใช้งานแบตเตอรี่ UPS ประเภทนี้เป็นอย่างมาก
- ข้อดีของแบตเตอรี่ Nickel-Cadmium เป็นอีกหนึ่งประเภทของแบตเตอรี่ UPS ที่นิยมใช้อย่างมาก มีความทนทานต่ออุณหภูมิสภาพแวดล้อมทุกรูปแบบ มีความทนทานต่อการคายประจุลึก จึงทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
- ข้อเสียของแบตเตอรี่ Nickel-Cadmium ราคาแพงกว่าแบตเตอรี่ VRLA มีวัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ยากต่อการจำกัด และการรีไซเคิล รวมถึงความเข้มงวดในการผลิต และการใช้งานแบตเตอรี่
แบตเตอรี่ Lithium Ion
แบตเตอรี่ UPS แบบลิเธียมไอออน (Lithium Ion Battery) คือ แบตเตอรี่ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ของแบตเตอรี่ UPS เลยก็ว่าได้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการ ของเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ที่นอกจากจะพบได้ใน เครื่องสำรองไฟ อย่าง UPS ก็ยังสามารถพบได้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือแล็บท็อป รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
-
- ข้อดีของแบตเตอรี่ Lithium Ion คือ เป็นแบตเตอรี่ UPS ที่มีขนาดเล็กและเบา มีเวลาชาร์จไฟเพียงแค่ 30-60 นาที จึงทำให้ชาร์จไฟเร็วกว่า แบตเตอรี่ Lead-Acid และ แบตเตอรี่ Nickel-Cadmium มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ทั้งค่าดูแล ซ่อมแซมตัวเครื่อง นอกจากนี้ สารเคมีในแบตเตอรี่ UPS ชนิดนี้ ยังเป็นสารเคมีที่ปลอดภัยมากกว่าสารเคมีใน แบตเตอรี่ Lead-Acid และที่สำคัญ คือ ช่วยประหยัดพื้นที่ ทำให้เหมาะกับการใช้งาน ในพื้นที่จำกัด
- ข้อเสียของแบตเตอรี่ Lithium Ion คือ มีราคาสูง และแม้ว่าแบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่ก็ยังมีรอบจำกัดในการชาร์จไฟ อีกทั้งสารเคมีในแบตเตอรี่ที่ถึงจะเป็นสารเคมีที่ปลอดภัยมากกว่า แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการนำสารเคมีไปรีไซเคิลนั่นเอง
ประโยชน์ของแบตเตอรี่ UPS
- กรณีระบบไฟฟ้าขัดข้อง เช่น ไฟตก ไฟดับ ไฟกระชาก แบตเตอรี่ UPS จะช่วยป้องกันความเสียหาย ของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- แบตเตอรี่ UPS ช่วยสำรองไฟ เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถทำงานต่อไปได้ เช่น การบันทึกไฟล์งาน เพื่อป้องกันไฟล์งานเสียหาย
- ในกรณีที่ต้องการปิดคอมพิวเตอร์ ก็สามารถช่วยให้คอมพิวเตอร์ปิดการทำงานได้ตามขั้นตอน เพื่อป้องกันข้อมูลในคอมพิวเตอร์ไม่ให้เสียหาย
- ไฟตก ไฟดับ หรือไฟกระชาก ทำให้บางครั้งอุปกรณ์ต่างๆ เสียหายได้ ดังนั้น การที่มี UPS ก็จะช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ ยังคงทำงานไปได้ตาปกติ และช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ให้เกิดความเสียหายได้
ทำไมจึงควรใส่ใจกับแบตเตอรี่ UPS
แบตเตอรี่ UPS คือ สิ่งสำคัญที่ทำให้เครื่องสำรองไฟฟ้า หรือ UPS ยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติ ถึงแม้ว่าเครื่องสำรองไฟฟ้าจะมีความทนทาน หรือแข็งแรงมากแค่ไหน ก็ยังมีสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด นั่นคือ แบตเตอรี่ UPS นั่นเอง เพราะหากแบตเตอรี่ UPS มีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด ก็จะช่วยทำให้เครื่องสำรองไฟฟ้าสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่หาก แบตเตอรี่ UPS มีอาการผิดปกติ หรือเกิดการชำรุด แน่นอนว่า ตัวเครื่องสำรองไฟฟ้า ก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณก็ควรหมั่นตรวจเช็กแบตเตอรี่ อย่างน้อยๆ เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าแบตเตอรี่ UPS ยังทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
หลักในการเลือกซื้อแบตเตอรี่ UPS
สำหรับผู้ที่สนใจ และอยากซื้อแบตเตอรี่ UPS มาไว้ใช้งาน แต่ไม่แน่ใจว่า ในการเลือกซื้อแบตเตอรี่ ควรต้องดูอะไรบ้าง จึงมีวิธีเลือกซื้อแบตเตอรี่ UPS แบบง่ายๆ ดังนี้
- ดูขนาดแรงดัน ของแบตเตอรี่ UPS เลือกขนาดของแบตเตอรี่ที่ต้องการใช้งาน ว่ามีขนาดแรงดันเท่าไร โดยเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น แบตเตอรี่แรงดันขนาด 12V 48V 72V เป็นต้น
- ดูขนาดของแบตเตอรี่ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถนำไปใส่กับอุปกรณ์ที่มีได้หรือไม่ โดยวิธีการวัด กว้าง x ยาว x สูง
- ความจุของแบตเตอรี่ หรือค่า แอมป์ (Ah) หากมีความจุของแบตมาก ก็จะยิ่งสำรองไฟในการใช้งานมากขึ้นเท่านั้น แต่ข้อควรระวัง คือ หากเลือกที่มีความจุมาก ขนาดของแบตเตอรี่ก็จะใหญ่มากขึ้นไปด้วย และไม่อาจใส่กับอุปกรณ์ที่มีอยู่ได้
แบตเตอรี่ UPS คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเครื่องสำรองไฟฟ้า หรือ UPS ที่หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นไฟดับ ไฟตก ไฟกระชาก แบตเตอรี่ UPS ก็จะทำหน้าที่จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่ออยู่ เพื่อให้ใช้งานต่อได้ไป ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายของข้อมูล หรืออุปกรณ์ จึงควรมี แบตเตอรี่ UPS เพื่อการใช้งานเป็นหลัก เพราะหากเกิดกรณีไฟดับ ไฟกระชาก แบตเตอรี่ UPSก็จะช่วยป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์ และข้อมูลได้ สำหรับผู้ที่สนใจแบตเตอรี่ UPS หรือหากต้องการเลือกซื้อแบตเตอรี่ UPS ควรเลือกแบตที่ดี มีมาตรฐาน อย่างที่ Chuphotic มีแบตเตอรี่ UPS ที่มีมาตรฐานหลายแบบให้เลือก พร้อมมีการรับประกันคุณภาพของสินค้า บริการให้คำปรึกษา และบริการหลังการขาย