รู้จักกับ Stabilizer ให้มากขึ้น Stabilizer คืออะไร? ทำหน้าที่อะไร?
หากบ้านใครพบเจอปัญหาไฟตก ไฟเกิน ไฟกระชากบ่อย ขอแนะนำให้ติดตั้งเครื่อง Stabilizer เครื่องรักษาระดับแรงดันไฟฟ้า หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นเครื่องป้องกันไฟตก ไฟเกิน และปรับแรงดันกระแสไฟให้พอดี แต่ก่อนจะติดตั้งเครื่อง Stabilizer นั้น อยากพามาทำความรู้จักกับ Stabilizer ให้มากขึ้น ว่า Stabilizer คืออะไร ทำหน้าที่อย่างไร และมีไว้ใช้กับอุปกรณ์อะไรบ้าง รวมถึงข้อควรรู้อื่นๆ ด้วยเช่นกัน
Stabilizer คืออะไร?
เครื่อง Stabilizer หรือ เครื่อง AVR คือ เครื่องป้องกันปัญหาไฟตก ไฟเกิน หรือไฟกระชาก โดย AVR ย่อมาจาก Automatic Voltage Regulator ที่แปลว่าเครื่องควบคุมแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติ ทำหน้าที่ช่วยปรับระดับแรงดันกระแสไฟฟ้าให้มีความคงที่ ช่วยให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไปยังอุปกรณ์ต่อพวงเป็นไปด้วยความราบรื่น อุปกรณ์ไฟฟ้าจึงสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดโอกาสการเกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ต่างๆ อันเนื่องมาจากผลกระทบของไฟตก ไฟเกินได้ รวมถึงช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์เหล่านั้นให้มีความยาวนาน
ส่วนประกอบของ Stabilizer
3 ส่วนประกอบพื้นฐานของเครื่อง Stabilizer มีหน้าที่ช่วยให้เครื่องทำงานปรับระดับแรงดันไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
- ขดลวด M (M-Winding Section) ความต้านทานกระแสสลับ (L/Reactance Generation) และขดลวดหลัก
- ขดลวด J (J-Winding Section) ขดลวดสำหรับปรับ และควบคุม
- ขดลวด K (K-Winding Section) วงจรกระแสไฟฟ้าสลับ (L/C Resonance)
เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านขั้ว R, S และ T การผลิต Magnetic Flux จะเกิดขึ้นโดยขดลวด M และ J ซึ่งในแต่ละเฟสจะทำให้เกิด Magnetic Force ขึ้นมาในแต่ละขดลวด ขดลวดเหล่านี้จะช่วยรักษาความสมดุลแรงเคลื่อนเหนี่ยวนำไฟฟ้า โดยรักษาแรงดันและกระแสไฟฟ้าในขดลวดให้อยู่ในระดับที่ตั้งค่าควบคุมไว้ ส่วนขดลวด K จะรับหน้าที่ดูดซับฮาร์โมนิคในระบบจ่ายไฟฟ้า
การทำงานของ Stabilizer
แม้ว่าจะมีการรับแรงดันไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงอยู่ตลอดเวลา เครื่อง Stabilizer ก็จะทำงานโดยปรับระดับแรงดันไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก่อนจ่ายออกไป ซึ่งหากเครื่อง Stabilizer ระบุจำนวนโวลต์ของไฟฟ้าขาเข้าไว้ที่ 380/220 โวลต์ จะมีค่า Regulation +15% ถึง – 20% และแรงดันไฟฟ้าขาออก 380/220 โวลต์ จะมีค่า Regulation ±5% นั่นหมายความว่า แรงดันไฟฟ้าที่ผ่านเครื่อง Stabilizer จะสามารถปรับเปลี่ยนระดับได้ในช่วง 304 – 437 โวลต์ ที่ Line to Line หรือ 176 – 253 โวลต์ ที่ Line to Neutral และส่วนแรงดันไฟฟ้าขาออกจะสามารถปรับให้อยู่ในช่วง 361 – 399 โวลต์ ที่ Line to Line หรือ 209 – 231 โวลต์ ที่ Line to Neutral อยู่ตลอดเวลา
หน้าที่ของ Stabilizer
Stabilizer มีหน้าที่รักษาระดับแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพคงที่ก่อนจ่ายไฟออกไปใช้งานกับเครื่องมือ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งยังป้องกันและกรองสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าที่เกิดจากมอเตอร์ เครื่องเชื่อมโลหะ การเปิด – ปิดสวิตช์ไฟฟ้า ความถี่ของวิทยุ หรือฟ้าผ่า รวมถึงมีหน้าที่ป้องกันการลัดวงจร และป้องกันไฟฟ้ากระโชกที่เกิดขึ้นในกรณีไฟฟ้าดับแล้วมาใหม่ทันที ซึ่งมีโอกาสทำให้เครื่องมือที่ต่อพ่วงใช้งานอยู่ในขณะนั้นเกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายได้
ความสำคัญของ Stabilizer
Stabilizer มีความสำคัญหลายด้าน ทั้งทางตรงในด้านการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้คงที่ และทางอ้อมที่ทำให้อุปกรณ์หรือเครื่องมือมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น
- ช่วยให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นไปด้วยความราบรื่น
- ช่วยให้อุปกรณ์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ลดอัตราความเสียหายที่เกิดจากสภาพปัญหาไฟฟ้า
- ช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องมือ
- ลดการสูญเสียพลังงานในช่วงเปิดสวิตช์อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
อุปกรณ์ที่เหมาะกับการใช้ Stabilizer
การใช้ Stabilizer เหมาะกับอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสำรองไฟ หรืออุปกรณ์ที่ต้องการทำงานอยู่ตลอดเวลา เช่น
-
- เครื่องเซิร์ฟเวอร์
- Wifi Router
- ตู้สาขาโทรศัพท์
- อุปกรณ์ทางการแพทย์
- เครื่องมือวิทยาศาสตร์
- เครื่องจักรอุตสาหกรรม
- เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น Smart TV เครื่องเสียง เครื่องชงกาแฟ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องปริ้น ตู้เย็น หรือตู้แช่ เป็นต้น
วิธีการเลือกใช้ Stabilizer
วิธีการเลือกใช้ Stabilizer เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานและยกระดับคุณภาพไฟฟ้า โดยเริ่มจากการคำนึงถึงเครื่องมือ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานอยู่ว่าเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ประเภทใด
- ถ้าเป็นเครื่องมือทั่วไป ต้องเลือกเครื่อง Stabilizer ที่กำหนดไฟฟ้าขาออกให้มีค่าควบคุม (Regulation) ±5%
- ถ้าเป็นเครื่องมือหรือเครื่องจักรที่ระบบการทำงานต้องการความเที่ยงตรงสูง ก็ควรเลือกใช้เครื่อง Stabilizer ที่มีค่าควบคุม (Regulation) ±2.5% หรือดีกว่าคือ ±1% โดยที่ค่าตัวเลขยิ่งน้อยเท่าใดก็จะมีค่าการควบคุมที่เที่ยงตรงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
เหตุผลที่ต้องมี Stabilizer
ภายในพื้นที่ที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่คงที่ เช่น ไฟตก ไฟกระชาก ไฟขาด เครื่อง Stabilizer คือตัวช่วยที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นบ่อยและทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดความเสียหายได้ โดยมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าไม่คงที่ ได้แก่ ในระบบไฟฟ้ามีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงโหลดอย่างรวดเร็ว เช่น เครื่องเชื่อม หรืออุปกรณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็วของมอเตอร์ เช่น เครื่องบด เป็นต้น นอกจากนี้การเปิด-ปิดเครื่องจักรของโรงงานมีการใช้พลังงานสูงในช่วงเวลาสั้นๆ บ้านเรือนที่อาศัยอยู่ใกล้เขตพื้นที่โรงงานจึงอาจเกิดผลกระทบเรื่องแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าไม่คงที่ภายในระบบไฟฟ้าของบ้านนั้นๆ ได้ รวมถึงอาจเกิดไฟฟ้าดับกระทันหันเป็นประจำ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดก็ล้วนเป็นต้นเหตุที่ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อใช้งานมีความเสี่ยง ด้วยคุณสมบัติในการปรับและรักษาแรงดันไฟฟ้าของเครื่อง Stabilizer จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมี Stabilizer ติดตั้งไว้ภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยและเครื่องใช้ไฟฟ้ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น
Stabilizer คือ เครื่องรักษาระดับแรงดันไฟฟ้า หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า AVR ย่อมาจาก Automatic Voltage Regulator ทำหน้าที่ปรับระดับแรงดันไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก่อนจ่ายออกไปใช้งาน นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อันเนื่องมาจากปัญหาไฟฟ้าไม่คงที่ ช่วยให้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์เหล่านั้นได้ ทั้งนี้จากความสำคัญของเครื่อง Stabilizer จึงควรเลือกใช้ Stabilizer ที่มีคุณภาพและมีประกัน หากเครื่องมีปัญหาอะไรก็สามารถแก้ไขได้เสมอ มีบริการหลังการขายที่ดี ซึ่งเครื่องนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงมีอายุยาวนาน ตัวเครื่อง Stabilizer เองก็ควรมีอายุการใช้งานที่ยาวนานด้วยเช่นกัน